window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
คุยเรื่องความรัก ในวันที่ลูกมีแฟน
เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว

คุยเรื่องความรัก ในวันที่ลูกมีแฟน

ความรักสำหรับเด็กวัยรุ่นนั้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิต การได้รู้สึกรัก การแอบชอบ รวมถึงการอกหักล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มเติบโตในเส้นทางของเขา และคงจะเป็นเรื่องดีหากมีพ่อแม่ร่วมเดินทางไปพร้อมกับเขา


ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีระดับฮอร์โมนสูงที่สุดกว่าทุกวัย ในขณะที่สมองส่วนหน้าของมนุษย์เรามักจะมีการเติบโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 20 ปี ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิด การวางแผน การยับยั้งชั่งใจ ทำให้วัยรุ่นที่สมองส่วนนี้ยังไม่โตเต็มที่ผสมกับฮอร์โมนที่มีมากในช่วงวัย เกิดเป็นการแสดงออกและรู้สึกถึงความรักที่แตกต่างไปจากวัยผู้ใหญ่ ความรักในวัยนี้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น ความรู้สึกหึงหวง ความอยากเป็นเจ้าของ ความต้องการเป็นคนที่ถูกรักมากที่สุด แต่พอสมองเติบโตเต็มที่ในวัยผู้ใหญ่ทำให้เกิดความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น มีการประเมินลักษณะนิสัยควบคู่ไปกับความชอบด้านภาพลักษณ์ที่มากขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่กับผู้ใหญ่ทุกคน เนื่องจากประสบการณ์ในชีวิตก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แต่ละคนแสดงออกทางความรักและนิยามความรักแตกต่างกันไป


ก่อนจะเรียนรู้วิธีการการพูดคุยกับลูกเรื่องการมีแฟน พ่อแม่ควรกลับมาถามตัวเองก่อนว่าตนเองรู้สึกอย่างไรหากลูกมีแฟน รับได้หรือไม่ กังวลมั้ย และกังวลเรื่องอะไร ใช่เรื่องของการมีแฟนจริง ๆ หรือป่าว?


แท้จริงแล้วพ่อแม่หลายคนไม่ได้กังวลเรื่องที่ลูกกำลังมีความรัก แต่กังวลเรื่องที่จะเป็นผลตามมาหากเกิดความรัก เช่น กลัวลูกเสียการเรียน กลัวลูกเสียใจ รวมไปถึงการกลัวว่าลูกจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ความกังวลพวกนี้ทำให้พ่อแม่หลายคนเลือกตั้งกฎกับลูกว่าให้ลูกเรียนจบก่อนจึงจะมีแฟนได้ หรือแม้กระทั้งกำหนดมาตราฐานของแฟนลูกเอาไว้ แต่ในความจริงแล้ว คนที่จะตัดสินใจมีหรือไม่มีแฟน มีแค่ตัวลูกเท่านั้น

พ่อแม่ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอนุญาติหรือไม่อนุญาติเพราะนั้นคือสิทธิของลูก การที่เราไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าลูกไม่มี แต่พ่อแม่เลือกได้ว่าจะเป็นคนที่ลูกเลือกมาปรึกษาเวลามีปัญหา หรือเป็นคนที่ลูกพยายามกลบทุกปัญหาเพื่อหลีกเลี่ยงการคุยกับพ่อแม่


พญ. วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการพูดคุยกับลูกเมื่อลูกมีแฟน ไว้ใน Net PAMA live : คุยเรื่องความรักในวันที่ลูกมีแฟน ว่า


สิ่งที่พ่อแม่ควรทำจริง ๆ เมื่อลูกมาบอกว่ามีแฟนคือ

1. ฟังลูก ฟังเรื่องราวความรักของลูกว่ารู้จักกันได้อย่างไร เริ่มตั้งแต่ตอนไหน หรือประทับใจอะไรกัน โดยที่ต้องถามด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ใช่การตั้งแง่ในด้านลบ จนการฟังกลายไปเป็นการซักไซ้ ตั้งคำถาม เมื่อไรที่ลูกกล้าบอกเราว่ามีแฟน ให้รับรู้ไว้ว่าลูกสบายใจกับเรา รับรู้ว่าเราเป็น safe zone การพยายามสอบถามด้วยใจที่ไม่เป็นกลางจะทำลายความไว้ใจที่ลูกมีให้เรา

2. เพศและความรักมักมาด้วยกัน
หากย้อนไปในสมัยที่พ่อแม่ยังเป็นเด็ก เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนคงมีช่วงเวลาที่มาจับกลุ่มคุยกับเพื่อน ๆ แล้วพูดว่า วันนี้เราจับมือกันด้วยแหละ พี่เขาโอบไหล่เราด้วย เพราะการถูกเนื้อต้องตัวกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ 

สื่งที่พ่อแม่ควรทำคือการสอนลูกชายให้เขารู้ว่าการเป็นสุภาพบุรุษควรทำอย่างไร การถูกเนื้อต้องตัวกันสามารถทำได้แค่ไหน และสอนลูกสาวให้รู้ว่าการป้องกันตัวเองควรทำเช่นไรและควรทำเมื่อเกิดอะไรขึ้น โดยควรเป็นการพูดคุยแบบธรรมชาติ ให้เห็นถึงความเป็นห่วง ไม่ใช้การจับผิด ไม่ไว้ใจหรือโทษว่าลูกจะไม่ป้องกันตัวเองหรือทำอะไรที่ไม่เหมาะสม สำหรับพ่อแม่ที่มีความกังวลในการพูดเรื่องเพศกับลูกให้คำนึงไว้เสมอว่าเราคุยเรื่องเพศศึกษากับลูก ไม่ใช่เรื่องเพศสัมพันธ์


3. ทำให้ลูกเชื่อใจว่าพ่อแม่พร้อมจะรับฟังเขา
แล้วลูกจะรับฟังคำสอนของเรา แม้ในบางครั้งพ่อแม่อาจจะไม่ชอบแฟนของลูกแต่ไม่ควรใช้การตำหนิในการพูดคุย หากลองคิดว่ามีคนมาว่าคู่ครองของเรา เราเองก็คงจะรู้สึกไม่ดีเช่นกัน พ่อแม่อาจใช้การพูดคุยแบบ ป๊าม้า Message (I Message) เช่น การที่หนูมีแฟน แม่ดีใจน้าที่หนูมีความรักแต่ก็คงอดห่วงไม่ได้ ถ้าเขาชวนไปที่ที่อยู่ด้วยกันสองต่อสอง หนูไม่ไปได้มั้ยเพราะว่าแม่เป็นห่วง กังวลว่าจะเกิดเรื่องที่ไม่เหมาะสมขึ้น เพื่อให้ลูกรับรู้ถึงความเป็นห่วงไม่ใช่การตำหนิ (เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการสะท้อนความรู้สึกและการใช้ป๊าม้า message ได้ที่ บทที่ 2 ทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร ที่คอร์สจัดเต็มของเน็ตป๊าม้า)

บางครั้งการปล่อยให้ลูกได้ลองทำตามที่เขาต้องการ (ที่ยังอยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัย) ในขณะที่เราได้แต่ค่อยดูและพูดความรู้สึกของเราในภาพรวม ไม่โจมตีแฟนของลูกที่เราอาจเห็นพฤติกรรมไม่ดี อาจเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ แต่การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องความรักและความผิดหวังด้วยตัวเอง และกล้าเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาให้เราฟังเพราะรู้ว่าพ่อแม่พร้อมจะช่วยเหลือเขา ไม่ใช่ซ้ำเติมเขา


ชม live เต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/watch/?v=714158500328125
NET PaMa