window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
สื่อสารกับลูกอย่างไรเมื่อลูกมีความคิดอยากจากโลกนี้ไป…
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
สื่อสารกับลูกอย่างไรเมื่อลูกมีความคิดอยากจากโลกนี้ไป…

ไม่มีใครที่ต้องการจากโลกนี้ไป… หากเพียงแต่ถ้าเราสังเกตและเข้าช่วยเหลืออย่างถูกวิธี เราก็จะสามารถช่วยป้องกันการสูญเสียเหล่านี้ได้ แล้วเราควรรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร

เริ่มต้นที่ความเข้าใจ
ความเข้าใจ เป็นเหมือนกับยาสามัญที่ช่วยสมานแผลใจได้อย่างดี การมีความคิดฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพิกเฉย หรือทำให้เรื่องเงียบหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการคิดว่า ความคิดอยากฆ่าตัวตายของลูกเป็นเรื่องที่ลูกแกล้งเล่น เดี๋ยวก็จะหายเองได้ หรือไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่นั้นลูกอาจะยิ่งรู้สึกหมดหวัง และโดดเดี่ยวมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการลงมือทำได้ในอนาคต ดังนั้นการเข้าใจว่าที่ลูกมีความคิดแบบนี้เกิดขึ้นนั้น เป็นความรู้สึกจริง ๆ และเข้าใจว่าเป็นสัญญาณหนึ่งที่ลูกของเรากำลังต้องการขอความช่วยเหลือซึ่งเราไม่ควรละเลย ก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้

ถ้ายิ่งพูดแล้วจะยิ่งทำให้ลูกมีความคิดเพิ่มขึ้น
ความเชื่อเหล่านี้เป็นความกังวลของผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน และเป็นความเชื่อที่มีมานาน จึงทำให้บางครั้งทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะตอบโต้กลับอย่างไรถึงจะเหมาะสม ซึ่งตรงกันข้ามมีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนความจริงที่ว่า หากเราพูดถึงเรื่องนี้อย่างเปิดเผยในครอบครัวพร้อมทั้งแสดงออกให้ลูกรับรู้ว่า ความรู้สึกของเขาได้รับการเข้าใจและมีคนคอยรับฟังช่วยเหลืออยู่เสมอนั้น จะช่วยให้ลูกรู้สึกมีที่พึ่งพิงทางใจเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้เป็นเรื่องที่น่าตกใจเมื่อเราได้ยินแบบนั้น และมีความกังวลใจเกิดขึ้นเราก็ยังควรที่จะพูดถึงเรื่องนี้ด้วยกันได้อย่างเปิดเผย ดังนั้นผู้ปกครองควรรวบรวมสติ ให้เวลาตัวเองและเปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการสื่อสารเรื่องนี้กับลูก ในเวลาที่เหมาะสมแต่ไม่ควรนานเกินไป

สร้างบทสนทนาที่ปลอดภัยสำหรับลูก
เมื่อเรารวบรวมสติและพร้อมที่จะสื่อสารกับลูกแล้ว การเริ่มต้นการสนทนาอาจจะเริ่มจาก #การสะท้อนความรู้สึกของลูก และพูดถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่เป็นวิธีที่เหมาะสมมากกว่าการฆ่าตัวตาย แต่ไม่ควรชี้นำหรือยัดเหยียดจนทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดหรือตอกย้ำให้เศร้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งรูปประโยคควรจะทำหน้าที่ในการสะท้อนความรู้สึกของลูกให้ลูกรับรู้สภาวะอารมณ์ของตัวเอง พร้อมกับสร้างความหวังให้ลูกว่าจะมีพ่อและแม่คอยช่วยเหลือให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยกัน เช่น

“แม่รับรู้ได้เลยว่าลูกรู้สึกเหนื่อยใจ ท้อใจมาก และอยากหาทางหยุดความรู้สึกพวกนี้ ลูกเลยมีความคิดนี้เกิดขึ้น”
“พ่ออยากชวนให้ลูกมาหาวิธีจัดการความรู้สึกแย่ ๆ พวกนี้ไปด้วยกัน อาจจะด้วยวิธีอื่นดีไหม ลูกคิดว่ายังไงบ้าง”
“มันยากมากนะที่ลูกจะจัดการกับความรู้สึกพวกนี้ได้ แม่เชื่อว่าบางครั้งลูกก็อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปแต่ไม่รู้จะทำยังไง เรามาลองหาทางแก้กันอีกซักตั้งหนึ่งกันดูดีไหม”
“พ่อรู้สึกดีใจที่ลูกมาบอกเรื่องนี้กับพ่อนะ พ่อคิดว่าลูกน่าจะเหนื่อยใจ ท้อใจมาก ลองเล่าให้พ่อฟังได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น”

การสร้างบทสนทนาที่ปลอดภัยได้นั้น เราจำเป็นต้องจัดการความคิดและสิ่งที่จะมารบกวนจิตใจเราออกไปก่อน เช่น ความกลัว ความหงุดหงิด ความคาดหวัง ความเสียใจ โดยสามารถเตือนตัวเองก่อนที่จะเริ่มต้นพูดคุยว่า เราจะไม่ด่วนสั่งสอน เราไม่ควรรีบตัดสินตัวตนลูก เราจะรับฟังลูกด้วยใจ

ดูแลจิตใจที่สิ้นหวังมืดหม่นให้กลับมามีพลังงานในการใช้ชีวิตอีกครั้ง
ความคิดอยากฆ่าตัวตาย สามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีความคิดและมุมมองต่อตนเอง ต่อสถานการณ์รอบตัวที่ลบมากกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงมีความรู้สึกสิ้นหวังกับอนาคต โดยมุมมองความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้ผู้ป่วยเศร้าซึม ไม่มีเรี่ยวแรงในการใช้ชีวิต ผู้ป่วยมักจะนอนเยอะ หรือหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม

หากผู้ปกครองเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูก ว่าเริ่มปลีกตัวแยกตัวออกจากสังคม สิ่งที่เคยชอบทำก็ทำน้อยลง หรือความสามารถในการดำเนินชีวิตกิจวัตรประจำวันนั้นลดลง อาจเป็นสัญญาณให้ผู้ปกครองเข้าไปถามไถ่ และชักชวนให้พบผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อประเมินวินิจฉัยต่อไป ซึ่งการรักษาโดยการใช้ยาควบคู่กับการทำจิตบำบัดเพื่อปรับมุมมองความคิด และการได้รับการสนับสนุนที่ดีจากคนรอบข้าง (ครอบครัว โรงเรียน กลุ่มเพื่อน) ถือเป็นปัจจัยป้องกันที่เป็นแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ


นอกจากนี้สามารถติดต่อสายด่วนเพื่อขอคำปรึกษาได้ 2 ช่องทาง
1) สายด่วน สุขภาพจิต 1323 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
2) สมาคมสะมาริตันส์ 02-113-6789 (12.00 – 22.00 น.) เป็นสมาคมที่มีอาสาสมัครคอยให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย

และที่สำคัญ เมื่ออยากเข้าใจลูก สื่อสารกับลูกแบบเชิงบวกอยากแนะนำให้ลองเข้ามาเรียนรู้กับเราฟรีๆที่ www.netpama.com นะคะ
https://www.health.ny.gov/prevention/injury_prevention/children/fact_sheets/10-19_years/suicide_prevention_10-19_years.htm
https://www.verywellmind.com/what-to-say-to-a-suicidal-teen-2611331
https://www.cdc.gov/suicide/factors/index.html
https://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/62-4/08_Supattra.pdf
NET PaMa