window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ถ้าหากพ่อแม่ยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวลูก ไม่กดดันลูก ลูกก็จะเห็นคุณค่าในตัวเองเช่นกัน
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

ถ้าหากพ่อแม่ยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวลูก ไม่กดดันลูก ลูกก็จะเห็นคุณค่าในตัวเองเช่นกัน


จู่ๆ ลูกสาวที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น มาชวนแม่ดูการ์ตูนเรื่อง “Turning Red” ชวนจนแม่สงสัยว่า ทำไมลูกจะต้องให้เราดูเรื่องนี้ให้ได้ สนุกอะไรขนาดนั้น เราแม่ลูกเลยมานั่งดูเรื่องนี้ด้วยกัน  


เป็นเรื่องของ “เมยลี่“ เด็กหญิงวัย 13 ปี ที่เชื่อฟังแม่มาตลอด แม่ของเมยลี่เป็นแม่ที่เข้มงวด รักลูกดั่งดวงใจ ดูแลลูกใกล้ชิดประดุจไข่ในหินมาตลอด 


ชีวิตของเด็กหญิง มีแบบแผนชัดเจนตามที่แม่วางไว้ให้ ผลการเรียนดี เรียนดนตรี เข้าชมรม ทำกิจกรรมทุกอย่างตามที่แม่บอก แม่รักเธอมาก และ เมยลี่ก็รักแม่มากเช่นกัน ที่ผ่านมา เธอเป็นเด็กดีในสายตาแม่เสมอ ช่วยงานที่บ้าน ขยัน ตั้งใจเรียน เป็นเด็กดีที่ทำให้แม่ภูมิใจ 


แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมยลี่ ไม่ได้แตกต่างกับเด็กทั่วไปที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นเลย เมยลี่ ชอบเต้นสายก้น เธอคลั่งนักร้องบอยแบนด์อยากดูคอนเสิร์ตของวงที่ชอบ กรี๊ดกร๊าดกับเพื่อนๆ และ เธอเริ่มแอบชอบเด็กผู้ชาย โดยแอบบรรยายความรู้สึกลงในไดอารี่ส่วนตัว


กับเพื่อน เมยลี่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ แต่กับแม่เด็กหญิงเลือกที่จะเก็บทุกอย่างไว้เป็นความลับเพราะเธอรู้ดีว่า แม่… คนที่เธอรักมากที่สุด “รับไม่ได้” กับสิ่งที่เธอเป็น และความลับที่เธอเก็บไว้ทั้งหมด ก็ไม่พ้นสายตาแม่ เมื่อวัน ที่แม่รู้ว่าเธอโกหก แม่โกรธมากและพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เมยลี่กลับมาเป็นเด็กดีที่ว่าง่ายเชื่อฟังคำสั่งแม่ทุกอย่างเหมือนเดิม


จนวันหนึ่ง เมยลี่ตื่นขึ้นมา แล้วพบว่าตัวเองกลายเป็น “แพนด้าแดง” เด็กสาวจะแปลงร่างเป็นแพนด้าแดงตัวยักษ์ทุกครั้งเมื่อเธอไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ซึ่งนี่คือคำสาปของวงศ์ตระกูล แม่ และบรรพบุรุษ จะต้องหาทางแก้ไขถอนคำสาปให้เด็กหญิง


ดูจบแล้ว คือ เข้าใจเลยว่า ทำไมลูกมาขอให้เราดูเรื่องนี้ มีความในใจอยากสื่อสารกับแม่อย่างแน่นอน


พ่อแม่ ได้เรียนรู้อะไรจากการ์ตูนเรื่องนี้


รัก ยอมรับและให้คุณค่าที่ ”ตัวตน” ของลูก หากพ่อแม่คาดหวังหรือบังคับกดดันลูกมากเกินไป อาจทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าในตัวเองเช่นกัน


มีอยู่ช่วงตอนหนึ่ง เมยลี่ พูดถึงแม่ของเธอว่า

“ตั้งแต่เกิดฉันเป็นเด็กดีของแม่ ช่วยงานศาลเจ้า เรียนดี พยายามทำดีขนาดนี้พ่อแม่ยังไม่ไว้ใจเรา แล้วฉันจะทำไปเพื่ออะไร" 


เข้าใจธรรมชาติทางอารมณ์ของลูกวัยรุ่น พ่อแม่หลายคนอาจรู้สึกหงุดหงิดที่ลูกน้อยที่เคยว่านอนสอนง่ายเริ่ม ไม่เชื่อฟัง เถียงเก่ง และ มีพฤติกรรมหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกเป็นห่วง ขัดหูขัดตาและขัดใจ 


แต่พ่อแม่ควร เอาใจลูกมาใส่ใจเรา เคารพความเป็นตัวของตัวเองของลูก เปิดใจและ เข้าใจในมุมมองของวัยเค้าด้วย


พ่อแม่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย คุยกับลูกแบบรับฟัง เข้าใจและไม่ตัดสิน ในขณะที่ลูกพูด บางเรื่องพ่อแม่อาจรู้สึกไม่เข้าท่าและไร้สาระ แต่ก็ควรรับฟัง ไม่ใส่อารมณ์และรีบแสดงความคิดเห็นของพ่อแม่ เพื่อตัดสินหรือ สั่งสอน เพราะจะเป็นเหตุให้ ลูกปิดใจและปิดบัง และไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟังอีกจนอาจจะกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาใหญ่ในอนาคต 


“แม่เห็นว่าหมู่นี้หนูดูหงุดหงิดนะ มีอะไรอยากเล่าให้แม่ฟังไหม”

“พ่อเข้าใจความรู้สึกลูกนะ”

“แม่ภูมิใจที่ลูกพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่หากลูกต้องการให้ช่วย แม่อยู่ตรงนี้เสมอนะจ๊ะ” โดยการให้คำแนะนำ เน้นการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับลูก ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง


สร้างสายสัมพันธ์ และ เวลาคุณภาพกับลูกวัยรุ่น โดยผ่านกิจกรรมที่ลูกสนใจ เช่น พูดคุยถึงนักร้อง หรือ วงดนตรีที่ลูกชอบ งานอดิเรกที่ลูกทำ กิจกรรมหรือ เพื่อนๆ ที่โรงเรียน โดยเน้นที่การรับฟัง และหลีกเลี่ยงกาวิพากษ์วิจารณ์


หากอะไรที่ผ่านมาพ่อแม่อาจจะผิดพลาดไปบ้าง ขอให้รับรู้ไว้ว่า พ่อแม่คือคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ให้อภัยตัวเอง ขอโทษลูก ปรับความเข้าใจ ทุกอย่างเริ่มต้นใหม่ได้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปแน่นอน 


สุดท้าย แม่ได้ ขอโทษเมยลี่ และบอกกับเธอว่า 

“ลูกพยายามทำให้ทุกคนมีความสุขแต่ไปกดดันตัวเอง ถ้าแม่สอนลูกให้เป็นแบบนั้น .. แม่ขอโทษ ต่อไปนี้อย่ากดดันเพื่อใคร ยิ่งลูกไปได้ไกล แม่จะยิ่งภูมิใจ"


ขอบคุณลูกที่ช่วยให้แม่ได้ทบทวน และ เรียนรู้ และ อยากจะพัฒนาตัวเองให้เป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้นตลอดเวลา


บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์


สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ที่อยากศึกษาและอยากได้แนวทางเพิ่มเติม เรื่องการพูดคุยกับลูกวัยรุ่น สามารถเข้าไปดูไลฟ์เน็ตป๊าม๊า เรื่อง คุยกับลูกวัยรุ่นอย่างให้เข้าใจกัน เรามาเรียนรู้ไปด้วยกันนะคะ

NET PaMa