window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
พ่อแม่ควรจะสื่อสารและปฎิบัติกับลูกอย่างไรในวันที่ต้องหย่าร้าง
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

พ่อแม่ควรจะสื่อสารและปฎิบัติกับลูกอย่างไรในวันที่ต้องหย่าร้าง

วันนี้ได้มีโอกาสฟังสัมภาษณ์ของน้องทิกเกอร์ ลูกชายคุณแม่นิโคล และ คุณพ่อแมว จิรศักดิ์  พูดถึงเรื่อง พ่อแม่แยกทางกัน ฟังแล้ว รู้สึกประทับใจในมุมมอง และ ทัศนคติ ของน้องทิกเกอร์มากๆ ค่ะ


“ความรักเป็นเรื่องซับซ้อนมากๆ มันเป็นธรรมดาที่คนสองคนจะเลิกกัน และ ผมเข้าใจมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้มีผลกระทบกับความสัมพันธ์ของผมกับพ่อแม่ จริงๆ มันทำให้ครอบครัวผมใหญ่ขึ้นด้วย ทุกคนยังดีกัน มันเป็นการฟังและเข้าใจว่าเหตุผลคืออะไรจึงมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ผมคุยกับพ่อและแม่บ่อย บางอย่างอาจเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ยังเป็นครอบครัวเดียวกัน”


สามารถฟังบทสัมภาษณ์น้องทิกเกอร์ได้ที่นี่


เราได้อะไรจากบทสัมภาษณ์ของน้องทิกเกอร์มาดูกันค่ะ 


เชื่อว่าก่อนมาถึงจุดนี้ ทุกคู่ต้องพยายามอย่างที่สุดแล้ว แต่หากการหย่าร้างคือทางออกเดียวสำหรับชีวิตคู่ของเรา การสื่อสารกับลูกให้รับรู้และเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ  ทั้งพ่อและแม่ควรตกลงร่วมกันพิจารณาหาความเหมาะสมในการบอกกับลูก ซึ่งมีคำแนะนำและแนวทางในการสื่อสารที่จะทำให้ลูกเข้าใจกับการหย่าร้างของพ่อและแม่ดังนี้ค่ะ


ยอมรับการหย่า 

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น การหย่าร้างคือ การที่คนสองคนคิดอย่างดีแล้ว และ ตกลงกันว่า ไม่สามารถใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้อีก กอดๆนะคะ มันไม่ได้เป็นตัดสินถึงความล้มเหลวในชีวิต หรือ คุณค่าของตัวเรา ซึ่งหลังจากการหย่าร้าง เรายังคงสามารถมีชีวิตของตัวเองก้าวเดินต่อไป โดยยังมีลูกเป็นศูนย์กลางได้


จังหวะ 

หาจังหวะเวลาที่เหมาะสม เปิดใจบอกความจริงกับลูก โดยอธิบายให้เข้าใจง่าย และตรงประเด็นที่สุด หลีกเลี่ยงการลงรายละเอียดที่อาจจะกระทบจิตใจเค้า 


เคารพกัน

พ่อและแม่ ต่างฝ่ายต้องไม่พูดถึงอีกฝ่ายในแง่ลบ ลูกจะได้ไม่สับสนและยังคงรู้สึกรักและเคารพพ่อแม่ได้เหมือนเดิม


ไม่ใช่ความผิดของลูก

ย้ำลูกรู้ว่า การที่พ่อแม่เลิกกัน “ไม่ใช่ความผิดของลูก“ ถึงแม้พ่อกับแม่จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ความรักที่มีให้ลูกนั้นไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เราทั้งคู่ยังจะอยู่เคียงข้างลูกเสมอ และความเป็นครอบครัวนั้นยังคงเหมือนเดิมตลอดไป


สื่อสารและรับฟัง

รับฟังลูกอย่างเข้าใจ และ ยอมรับความรู้สึกของลูกที่อาจจะเกิดขึ้น บอกให้ลูกได้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับเค้า เช่น อาจต้องมีการสลับการเลี้ยงดูระหว่างพ่อและแม่ การย้ายบ้านหรือย้ายโรงเรียน เปิดโอกาสให้ลูกได้ร่วมตัดสินใจ รับฟัง ไม่บีบบังคับให้เลือกข้าง และอยู่เคียงข้างลูกเสมอเพื่อช่วยเหลือเค้าจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้


ยอมรับผลกระทบ

ยอมรับหากการหย่าร้างของพ่อแม่ มีผลกระทบ กับพฤติกรรมของลูก เนื่องจากในเด็กแต่ละคน และแต่ละช่วงวัย มีความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน  ลูกอาจเกิด พฤติกรรมถดถอย โกรธ เสียใจ  อาละวาด หรือ มีผลต่อการเรียน เราต้องร่วมกันให้กำลังใจช่วยแก้ปัญหา และ อยู่เคียงข้างเค้าเสมอ


คงความสม่ำเสมอ

พ่อและแม่ ยังคงติดต่อ พูดคุย ใช้เวลาร่วมกันในการทำกิจกรรมร่วมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เค้าได้รู้ว่า ถึงพ่อแม่จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่เรายังเป็นครอบครัวเดียวกัน และลูกยังเป็นที่รักของเราตลอดไป แม้ความเป็นสามีภรรยาจะสิ้นสุด แต่ความเป็นพ่อแม่และความเป็นครอบครัวยังคงอยู่ สองมือของเรายังคงร่วมกันโอบกอดประคับประคองเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก และความอบอุ่นให้ลูกเป็นเด็กที่มีความสุข เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ 

 

แต่หากพยายามเต็มที่แล้ว ลูกยังคงมีปัญหาและมีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง และพ่อแม่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้  อาจต้องหาทางอื่นในการช่วยเหลือเค้า เช่น ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านให้คำแนะนำปัญหาครอบครัวหรือจิตแพทย์ต่อไป

 

บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์
NET PaMa