window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ทำอย่างไรเมื่อลูกต้องเผชิญหน้ากับการจากไปของคนในครอบครัว
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

ทำอย่างไรเมื่อลูกต้องเผชิญหน้ากับการจากไปของคนในครอบครัว

“การสูญเสีย” ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ สัตว์เลี้ยงหรือคนที่รักสำหรับผู้ใหญ่แล้วก็นับเป็นเรื่องที่ยากลำบากและต้องใช้เวลาในการก้าวข้ามผ่านเหตุการณ์นั้นไปให้ได้ แต่กับเด็ก ๆ แล้วการสูญเสียคนที่พวกเขารักหรือ “ความตาย” นั้นยิ่งดูเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการอธิบายความรู้สึกเกี่ยวกับมันและผู้ปกครองก็ดูเหมือนจะรับรู้เช่นกัน จึงทำให้ผู้ปกครองหลายคนหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยกับเด็ก ๆ ถึงการจากไปของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เพราะกังวลว่าจะเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่พวกเขาจะเข้าใจ นอกจากนั้นการเห็นลูกของตนเองเสียใจ ยิ่งทำให้การพูดถึงเรื่องความตายดูยากขึ้นไปอีกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่แท้จริงแล้วการไม่พูดถึงนั้นกลับส่งผลที่ร้ายแรงกว่าการพบว่าลูกของตนเองร้องไห้เสียใจกับการจากไปนั้นเสียอีก

 

การหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการจากไปของคนในครอบครัวให้ลูก ๆ รับรู้ของผู้ปกครองแต่ละบ้านนั้นมีตั้งแต่การเลือกใช้คำอื่นที่ผู้ปกครองเข้าใจว่ามีความหมายสื่อถึงคำว่าตาย เช่น “คุณยายหลับไปนะ” “คุณตาไม่ได้อยู่ที่นี่อีกแล้ว” หรือ “คุณตาจากไปแล้ว” จนไปถึงการเลือกใช้วิธีหลีกเลี่ยงการพูดถึงบุคคลนั้นแม้เด็ก ๆ จะคุ้นเคยกับการมีพวกเขาอยู่ก็ตาม การหลีกเลี่ยงเช่นนี้ส่งผลให้เด็กรู้สึกสับสนและอาจมากถึงขนาดทำให้เด็ก ๆ รู้สึกโทษตนเองต่อการจากไปนั้นได้อีกด้วย

 

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า “การสูญเสีย” เป็นเรื่องยากเสมอ ดังนั้นบทความนี้จึงจะพูดถึง 5 วิธีการรับมือของผู้ปกครองเมื่อลูกต้องพบเจอกับการจากไปของคนในครอบครัว

 

  1.     คำนึงเสมอว่าเด็กในแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน

คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจพัฒนาการของลูกเพื่อให้สามารถสื่อสารกับลูกและเข้าใจพฤติกรรมของเขาได้อย่างถูกต้อง

เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มักยังไม่เข้าใจว่าความตายเป็นสิ่งที่ถาวรและไม่เปลี่ยนแปลง คุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียมรับมือกับการที่ลูก ๆ จะถามถึงบุคคลที่จากไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าและอาจจะเกาะติดคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นเป็นพิเศษ

เด็กในวัย 6-11 ปี จะเริ่มเข้าใจว่าความตายนั้นคงอยู่ตลอดไป ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขากังวลว่าคนอื่น ๆ ในครอบครัวหรือคนที่ใกล้ชิดกับเขาจะตายและเกิดคำถามตลอดเวลาเพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าใจสถานการณ์มากขึ้น

ช่วงวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไป จะเข้าใจแล้วว่าความตายไม่สามารถย้อนกลับมาได้และมันจะเกิดขึ้นกับทุก ๆ คน พวกเขาจึงมักจะอยากเข้าใจและพยายามหาคำตอบว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น

 

  1.     พูดคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าคุณพ่อคุณแม่มักเลี่ยงใช้คำว่า “ตาย” โดยตรง เนื่องจากในความรู้สึกของผู้ใหญ่แล้วคำว่าตายดูจะเป็นคำที่ไม่ถนอมความรู้สึกเท่าไรนัก แต่กับเด็ก ๆ นั้นต่างออกไป พวกเขาไม่เข้าใจว่าถ้า “คุณยายหลับไป” แล้วทำไมถึงไม่ตื่นขึ้นมาเสียทีเพราะการหลับสำหรับพวกเขามันไม่ใช่ความตาย รวมถึงไม่เข้าใจว่าการที่ “คุณตาจากไปแล้ว” เป็นเพราะอะไร ที่คุณตาไม่กลับมาเป็นเพราะเขาเคยพูดว่าไม่รักตาแล้วตอนที่คุณตาไม่ยอมอุ้มเขารึป่าว ดั้งนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรพูดและให้คำอธิบายกับลูก ๆ อย่างตรงไปตรงมาว่า “คุณตานั้นเสียหรือตายแล้ว” และความตายหมายถึงการที่ร่างกายของคุณตาไม่ทำงาน คุณตาจะไม่สามารถกินหรือนอนได้เหมือนเราอีกแล้ว

 

  1.     แสดงความรู้สึกที่แท้จริงและฝึกให้คำนิยามอารมณ์ของลูก

การแสดงความเสียใจต่อหน้าลูกเมื่อมีคนที่เรารักจากไปเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้และสมควรทำ หากคุณพ่อคุณแม่พยายามปิดบังความรู้สึกของตนเอง สิ่งนี้จะยิ่งส่งผลให้ลูกเกิดความสับสนเพราะในชีวิตจริงแล้วคนที่ตายไม่ใช่คนร้ายเหมือนในการ์ตูนและคนรอบกายเขาก็ไม่ได้ดีใจเวลามีการสูญเสียเช่นกัน การแสดงความรู้สึกให้ลูกเห็นจะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าเมื่อคนที่เรารักจากไป มันย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะเสียใจ นอกจากนั้นคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถชวนเขาสำรวจความรู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังเจออยู่นี้มันคืออารมณ์อะไร ซึ่งแตกต่างจากอารมณ์ที่ลูกรู้จักแล้วอย่างไร

 

  1.     สังเกตและอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าสาเหตุของการสูญเสียไม่ได้เป็นเพราะเขา

เมื่อความตายเป็นเรื่องใหม่ที่ลูก ๆ เพิ่งจะได้รู้จัก จึงไม่แปลกถ้าพวกเขาจะยังไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของการตายและคิดโทษว่าตนเองมีส่วนทำให้การตายนั้นเกิดขึ้นหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตลูก ๆ และพูดคุยอธิบายว่าอะไรทำให้คนที่เขารักเสียชีวิตเช่น “คุณยายป่วยเป็นมะเร็งเลยทำให้คุณยายเสียชีวิต” เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าต้นเหตุของการจากไปไม่ได้เป็นเพราะตัวเขา

 

  1.     พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้เหมือนเดิม

การสูญเสียที่เกิดขึ้นย่อมกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของเด็กไม่มากก็น้อย เช่น การที่เขาตื่นมาแล้วไม่เจอบุคคลนั้น  รวมถึงการเข้าร่วมงานศพ แม้แต่กับผู้ใหญ่เองความแตกต่างนี้ก็ต้องใช้ความสามารถในการรับมือไม่น้อยและยิ่งกับในเด็กที่มักจะรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้ทำสิ่งที่คุ้นเคยอย่างเป็นประจำแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามรักษากิจวัตรประจำวันของลูก ๆ ให้เหมือนเดิมเพื่อให้เขาสบายใจและปลอดภัยในสถานการณ์นี้

 

Reference:

I Miss You: A First Look at Death (Children’s Book)

https://www.unicef.org/parenting/child-care/how-talk-your-children-about-death-loved-one

https://www.apa.org/monitor/2022/10/kids-covid-grief

NET PaMa