window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
จัดการอย่างไรเมื่อลูกถูกรังแก
เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว

จัดการอย่างไรเมื่อลูกถูกรังแก

มีข้อมูลว่านักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ถูกเด็กคนอื่นรังแกในโรงเรียน และเมื่อเด็กถูกรังแกแล้วก็จะถูกรังแกซ้ำๆ นอกจากนั้นก็พบว่าเด็ก ๆ ก็มักจะไม่กล้าบอกผู้ใหญ่ว่าตัวเองถูกรังแก

เมื่อเด็กๆไม่ค่อยเล่าเรื่องที่ถูกรังแกให้พ่อแม่ฟัง

  • ผู้ใหญ่จึงต้องทราบวิธีสังเกตอาการที่บอกว่าเด็กถูกรังแกหรือไม่

อาการเช่น เมื่อกลับจากโรงเรียนแล้วเสื้อผ้าฉีกขาด ข้าวของเสียหาย ร่างกายเด็กมีรอยแผลหรือรอยช้ำที่ไม่ทราบสาเหตุ

เด็กอาจไม่บอกว่าถูกรังแกตรง ๆ หมอเคยเจอเด็กมาพบด้วยอาการ อยู่ดีๆก็กลัวการไปโรงเรียน แบบไม่มีสาเหตุ การเรียนตกลง เมื่อซักประวัติเพิ่มเติม เด็กจึงยอมรับว่าถูกเพื่อนขู่เอาเงิน และทำร้ายร่างกาย เด็กบางคนอาจมีอาการเศร้า เงียบแยกตัว บางทีอาจจะอารมณ์แปรปรวนง่าย นอนไม่หลับ ฝันร้าย

เด็กที่ถูกรังแกได้ง่ายส่วนหนึ่งมักเป็นเด็กที่ขาดทักษะการสื่อสาร มีลักษณะเก็บตัว เงียบ ไม่ค่อยมีปากมีเสียง อาจจะไม่ค่อยมีเพื่อนสนิท หรือครอบครัวไม่ค่อยมีเวลาให้ เด็กไม่สามารถขอความช่วยเหลือใครได้ หรือไม่รู้จะขอความช่วยเหลืออย่างไร

  • เด็กส่วนหนึ่งไม่อยากบอกครูหรือพ่อแม่ว่าถูกรังแก เพราะว่า อาจจะกลัวจะถูกรังแกมากขึ้น ถูกขู่มาก่อนว่าห้ามไปบอกใคร หรือกลัวถูกล้อว่าขี้ฟ้อง

ดังนั้นหากสงสัยว่าลูกอาจจะถูกรังแก พ่อแม่ควรจะต้องพูดคุยกับลูก บอกเด็กว่าเราเป็นห่วง ทำให้เด็กรู้ว่าเราพร้อมที่จะอยู่ข้างๆและปกป้องช่วยเหลือ

ถ้าเด็กยังไม่พูด เราไม่ต้องบังคับหรือเค้นถาม เค้าอาจจะไม่กล้า หรือไม่พร้อม ก็บอกเด็กว่า อย่างไรพ่อแม่ก็อยู่ข้างๆพร้อมที่จะช่วยเหลือ และถ้าสงสัย ก็ควรพูดคุยกับครูถึงลักษณะของเด็กที่โรงเรียน เช่น เด็กเข้ากับเพื่อนได้ดีหรือไม่ มีอาการอะไรหรือสัญญาณที่ครูคิดว่าเด็กน่าจะถูกรังแกหรือไม่

แต่เมื่อวันไหนที่เด็กบอกผู้ใหญ่ว่าถูกรังแก แสดงว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ถ้าถึงเวลาที่เด็กเล่าให้ฟัง พ่อแม่ก็ควรรับฟัง สนใจที่จะช่วยเหลือ

พ่อแม่บางคนคิดว่าการถูกรังแกเป็นเรื่องเล็ก และบอกเด็กว่าไม่ต้องไปสนใจเวลาเพื่อนมาแกล้ง การบอกเด็กอย่างนั้น อาจทำให้เด็กตีความว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจและไม่สนใจ พ่อแม่ควรคิดเสมอว่าถ้าเด็กไม่ทุกข์ร้อนจริงๆคงจะไม่มาเล่าให้ฟัง

  • อย่าเพิ่งไปตั้งแง่ว่า ที่ถูกรังแก เพราะลูกไปทำอะไรก่อนหรือเปล่า เช่น ถามเด็กว่า "นี่คงไปทำอะไรเค้าก่อน ไม่งั้นเค้าจะมาทำหนูทำไม" เป็นต้น เด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ทำให้เมื่อเกิดเรื่องอีกเขาจะไม่เล่าให้พ่อแม่ฟังอีก ก่อนอื่นให้ชมเชยในความกล้าที่เด็กมาเล่าให้ฟัง แสดงความเข้าใจและเห็นใจที่เด็กถูกรังแก

เมื่อเด็กเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง บางครั้งพ่อแม่จะรู้สึกว่า เด็กจัดการปัญหาได้ไม่ถูกใจ ก็อย่าเพิ่งไปวิจารณ์ ตำหนิ ลองให้เด็กเล่าก่อน พ่อแม่ตั้งสติ และควบคุมอารมณ์ เช่น ความกังวล ความโกรธ เพราะอาจรบกวนการตัดสินใจอย่างเหมาะสม

พึงระลึกว่าไม่ควรสนับสนุนให้เด็กใช้ความรุนแรงตอบ เพราะสิ่งที่ตามมาอาจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น โดยส่วนใหญ่เด็กที่มารังแกมักเป็นเด็กโตกว่าอยู่แล้ว ถ้าสู้ได้เด็กคงไม่ปล่อยให้เขารังแก

  • พ่อแม่ควรแจ้งให้โรงเรียนทราบเหตุการณ์ การรังแกคงไม่หยุดหากผู้ใหญ่ในโรงเรียนไม่ทราบและไม่ช่วยเหลือ เวลาที่พ่อแม่ไปคุยกับครู ควรควบคุมอารมณ์ตัวเองให้นิ่ง บอกรายละเอียด ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แสดงให้โรงเรียนเห็นว่าที่เรามาบอกเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เพื่อลูกของเราและเด็กคนอื่นปลอดภัยจากการถูกรังแก ไม่ใช่ว่าจะไปกล่าวโทษโรงเรียน

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องความปลอดภัยของเด็ก ที่โรงเรียนจะต้องทำให้พ่อแม่และเด็กมั่นใจเพียงพอว่าจะสามารถป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กได้

สำหรับพ่อแม่ที่ลูกๆยังไม่ถูกรังแก ก็สามารถเตรียมพร้อมให้เด็กรับมือกับการรังแกได้ เริ่มด้วยการปลูกฝังความเชื่อมั่นในตัวเองให้เด็ก ให้เด็กเรียนรู้ทักษะในการจัดการกับปัญหา เช่น ฝึกให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเองในเรื่องง่ายๆ เมื่อเด็กรู้สึกว่าเขาก็มีความสามารถทำได้ เมื่อนั้นเด็กก็จะค่อยๆรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ความกล้าก็จะตามมา ดีกว่าเด็กที่ไม่เคยทำอะไรเองเลย

  • สอนวิธีการสร้างความปลอดภัยจากการรังแก ให้เด็กรู้จักขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อรู้สึกว่าถูกรังแก เด็กควรเข้าใจและมีค่านิยมที่ถูกต้อง ว่าการขอความช่วยเหลือเวลาที่ถูกรังแก เช่น บอกครู บอกพ่อแม่ ไม่ได้หมายความว่าเด็กเป็นคนขี้ฟ้อง

สิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก ให้เด็กไว้ใจพ่อแม่ เมื่อนั้นเด็กก็จะกล้าที่จะเล่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ฟัง เพราะเด็กรู้ว่า มีพ่อแม่ที่สามารถเป็นที่พึ่งเมื่อเด็กต้องการ ถ้าเด็กเล่าให้พ่อแม่ฟังตั้งแต่แรก ก็น่าจะป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นได้

 

เขียนโดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ

NET PaMa