window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ทำอย่างไรให้ลูกเข้าใจยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างเหมาะสม
เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว

 ในการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัว ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก ในระดับโรงเรียนกับเพื่อนหรือคุณครู หรือแม้แต่ในสังคมใหญ่ที่มีผู้คนหลากหลาย การคิดต่างเห็นต่างกันนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ  

  

เนื่องจากคนเราทุกคนเกิดมาต่างกัน มีพื้นนิสัยติดตัวมาไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง ต่างอายุต่างวัยย่อมมีประสบการณ์และมุมมองที่ต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่คนทุกคนจะคิดเหมือนกันหมด 

  

การสอนให้ลูกเปิดใจเรียนรู้ แสดงออกถึงความคิดเห็นของตัวเองอย่างเหมาะสมและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก 

  

พ่อแม่สามารถสอนให้ลูกยอมรับและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ท่ามกลางความเห็นต่างรวมถึงการแสดงออกในความคิดเห็นของตัวเองอย่างเหมาะสมได้ดังนี้ 

  

เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก 

เปิดใจรับฟัง เคารพในความคิดเห็นของลูก ถึงแม้ในบางเรื่องเราอาจจะมองว่าไม่เข้าท่า แต่ก็ควรรับฟังด้วยความเข้าใจ อย่ารีบค้านหรือพูดแทรกความคิดเห็นของเราเพื่อตัดสินหรือสั่งสอน เมื่อลูกพูดจบแล้ว สะท้อนยอมรับความเห็นของลูก ก่อนจึงค่อยแสดงความคิดของเรา หากลูกรู้สึกว่าพ่อแม่นั้นเคารพและยอมรับฟังความเห็นของเค้า ก็จะทำให้ลูกรู้สึกดีและเห็นความสำคัญของการเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเช่นเดียวกัน 

  

“แม่เข้าใจจริงๆ ว่าลูกอึดอัดกับระเบียบทรงผมของโรงเรียน ทั้งๆที่บางที่ก็ปล่อยอิสระกันบ้างแล้ว ทางโรงเรียนแจ้งว่า การกำหนดทรงผมก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย แม่ว่าต่างฝ่ายก็ต่างมีเหตุผลจริงๆ” 

  

ฝึกควบคุมอารมณ์ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง 

เป็นเรื่องปกติที่ต่างฝ่ายจะต่างมีอารมณ์ในขณะที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นที่ไม่ตรงกัน จนทำให้เกิดเป็นการทะเลาะ โต้เถียง หงุดหงิด โกรธ ขึ้นเสียง ตะคอก ซึ่งพ่อแม่ควรจะรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ควบคุมอารมณ์ให้ได้เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกในการพูดคุยและหาทางออกอย่างสันติโดยใช้เหตุผลในการหาข้อสรุป 

  

“แม่เข้าใจเหตุผลของลูกนะ แต่ตอนนี้แม่กำลังโกรธมากที่ลูกตะคอกใส่แม่ แม่ขอเวลาระงับอารมณ์สักครึ่งชั่วโมง แล้วเราค่อยมาคุยเรื่องนี้กันอีกครั้ง แม่อยากให้เราใช้เหตุผลคุยกันดีๆมากกว่า” 

  

“พ่อเข้าใจจริงๆ ว่า ลูกโมโหที่เพื่อนพิมพ์ต่อว่าลูกในทวิต เพราะคิดต่างกัน แต่หากลูกพิมพ์ว่าเพื่อนกลับรุนแรงตอนโกรธ ลูกว่าผลจะเป็นอย่างไร คำพูดและความรู้สึกนั้นมันเรียกคืนกลับยากนะ หรือลูกคิดว่ายังไง“  

  

เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น

ด้วยคำถามปลายเปิดเพื่อให้ลูกได้หัดคิดและใช้เหตุผลในตัดสินใจ ฝึกให้ลูกทบทวนเพื่อที่จะเข้าใจความคิดของตนเองและผู้อื่นซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้กับทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน 

  

“แม่รู้ว่า การเดินทางทริปนี้ ลูกไม่อยากพกเสื้อกันหนาวเพราะไม่อยากให้กระเป๋าหนัก แต่แม่ดูพยากรณ์อากาศแล้ว อากาศอาจจะเย็นขึ้น ถ้าหนาวลูกจะทำอย่างไรจ๊ะ “ 

  

“เรื่องทรงผม ลูกคิดว่าทำไมโรงเรียนลูกกับโรงเรียนเพื่อนถึงมีกฎที่ต่างกัน แล้วลูกคิดว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อสื่อสารแลกเปลี่ยนความเห็นของลูกกับทางโรงเรียนได้อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เข้าใจกัน “ 

  

ชวนลูกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบ่อยๆ

โดยใช้หลักการเคารพเหตุผลและรับฟังซึ่งกันและกันไปพร้อมกับการฝึกควบคุมอารมณ์ก่อนการแสดงออกที่เหมาะสม เมื่อรับฟังลูกแสดงความคิดเห็นของตัวเองจนจบพ่อแม่ค่อยอธิบายว่าเราคิดอย่างไร  

  

“แม่เข้าใจที่ลูกบอกว่า ลูกอยากจะตีเพื่อนคืนเพราะเพื่อนมาทำเราก่อน แต่ลูกว่า ถ้าคุณครูสอบสวนแล้ว ต่างฝ่ายก็ต่างใช้กำลังทั้งคู่ คุณครูจะตัดสินยังไงนะ “ 

  

“แล้วลูกว่าจะมีวิธีไหนอีกบ้างไม๊ ที่จะดีกว่าตีเพื่อนคืน” 

  

“ถ้าเป็นแม่ แม่จะป้องกันตัวโดยการบอกเพื่อนว่าอย่าทำแบบนี้เราไม่ชอบและจะเดินหนี หากเพื่อนไม่หยุด แม่จะไปบอกคุณครูและผู้ปกครองแล้วนะ ลูกคิดว่า วิธีนี้เป็นอย่างไรบ้างจ๊ะ” 

  

เคารพและยอมรับการตัดสินใจของผู้อื่น 

เนื่องจากทุกคนมีความรู้สึกนึกคิด มีเหตุผลและมีชีวิตเป็นของตัวเอง  ดังนั้น สิทธิ์ในการตัดสินใจจึงควรเป็นของแต่ละบุคคล หากต่างฝ่ายต่างได้เปิดใจพูดคุย รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันแล้ว สุดท้ายเราทุกคนก็ควรจะเคารพสิทธิ์ในการตัดสินใจของผู้อื่นด้วย 

  

เมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ได้หมายความว่า จะต้องแตกแยกกัน ในทางตรงกันข้าม ความคิดเห็นที่ต่างกันนั้นจะช่วยเติมเต็มความคิดในอีกแง่มุม ที่ต่างฝ่ายต่างอาจจะมองข้ามไป ซึ่งอาจจะมีประโยชน์มาก หากเพียงแค่ทุกคน ”เคารพกัน” เปิดใจแลกเปลี่ยน “ยอมฟังความคิดเห็นของกันและกัน” ถีงแม้จะคิดต่างแต่เราก็สามารถยอมรับและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขได้  ♥️ 

NET PaMa