window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ลูกไม่ยอมให้ขัดใจ ทำอย่างไรดี ?
เมื่อ 11 เดือนที่แล้ว

'ลูกไม่ยอมให้ขัดใจ ทำอย่างไรดี'

'ลูกงอแงเอาแต่ใจ ขัดใจไม่ได้'

'ลูกก้าวร้าว ถ้าไม่ตามใจลูกก็จะไม่ยอมหยุดพฤติกรรมนี้'

 

ปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่น้าหมอได้ยินอยู่เป็นประจำค่ะ เกิดขึ้นกับผู้ปกครองหลายบ้านเลยทีเดียวและบางบ้านอาจจะรุนแรงมากจนกระทบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่ในบ้านด้วย 

 

จุดเริ่มต้นของปัญหาเหล่านี้คืออะไร? 

ตามพัฒนาการของเด็ก อ้างอิงจากทฤษฎีของ Erik Erikson (Erikson’s Psychosocial theory) นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน กล่าวว่า เด็กๆจะเริ่มพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) ได้ตั้งแต่อายุ 1ปีครึ่งถึง 3 ปี นั่นก็คือ เด็กๆจะมีความคิด ความต้องการเป็นของตัวเองโดยเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมที่ตอบสนองกลับมา เช่น เด็กๆอยากลองใส่เสื้อผ้าด้วยตัวเอง อยากลองเล่นของเล่นแบบที่ตัวเองชอบ แต่เขาอาจจะยังทำได้ไม่เต็มที่ ยังหยิบเสื้อผ้ามาใส่ไม่ถูก ใส่กลับด้าน หรือเล่นสิ่งที่เป็นอันตรายโดยการเอานิ้วไปจิ้มในช่องเสียบปลั๊กไฟ หากผู้ปกครองตอบสนองถูกต้อง ได้แก่ คอยช่วยหยิบเสื้อผ้าให้ บอกวิธีใส่ที่ถูกต้องโดยไม่ช่วยทั้งหมดหรือเตือนด้วยท่าทีจริงจังแต่อ่อนโยนและพาเบี่ยงเบนความสนใจหากเล่นสิ่งที่เป็นอันตราย

เด็กๆก็จะยังได้ทำตามความต้องการของตัวเองและเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องไปด้วย ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและเป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่ในทางตรงกันข้าม หากผู้ปกครองช่วยเหลือมากเกินไป เช่น ช่วยเด็กทำกิจวัตรประจำวันทุกอย่าง ไม่กล้าตักเตือนหรือจำกัดพฤติกรรมในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เด็กๆก็จะขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเองเพราะไม่เคยลองทำมาก่อน (เพราะผู้ปกครองช่วยเหลือเยอะเกินไป) และไม่รู้ขอบเขตของการกระทำของตัวเอง เช่น เล่นสิ่งที่อันตราย เล่นรุนแรงกับคนรอบข้างแล้วรู้สึกสนุก (เพราะผู้ปกครองไม่เคยจำกัดพฤติกรรมและยอมตามเด็กมากเกินไป) และนำไปสู่ความสงสัยในตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองทำดีหรือยัง (Shame&doubt) นำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ที่ตามมาในอนาคตได้
 

 

แล้วผู้ปกครองควรทำอย่างไร? 

น้าหมอมักจะถามผู้ปกครองที่พาเด็กๆมาพบด้วยปัญหาเอาแต่ใจหรือก้าวร้าวเสมอว่า ‘ที่บ้านมีข้อตกลงกับเด็กๆหรือไม่ และส่วนใหญ่ยอมตามหรือฝืนใจเด็กมากกว่ากัน’ 

 

คำตอบที่ได้รับ มักจะเป็นในทำนองที่ว่า 

1.ไม่ตามใจเลย มีการห้ามตลอด 

2.ต้องยอมตามเพราะไม่อย่างนั้นเด็กก็ไม่หยุดงอแง 

3.พ่อแม่ไม่ยอมนะแต่ญาติคนอื่นยอมตาม (ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา) 

 

น้าหมอจะพาทำความเข้าใจไปทีละข้อค่ะ 

1. กรณีที่ไม่ได้ตามใจแต่เด็กก็ยังต่อต้านไม่รับฟัง 

การแก้ปัญหานี้อยู่ที่ ความสม่ำเสมอและความใจเย็นของผู้ปกครองค่ะ เนื่องจากเด็กวัยนี้เป็นวัยที่เริ่มอยากได้ความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง เด็กจึงต่อต้านในสิ่งที่ผู้ปกครองสอนเป็นธรรมดา (เพราะเป็นพัฒนาการตามวัยของเด็กวัยนี้) หากผู้ปกครองหงุดหงิดเวลาที่เด็กต่อต้านและแสดงออกด้วยสีหน้า ท่าทางที่โกรธ เด็กๆก็จะยิ่งต้านหรือบางคนอาจจะกลายเป็นเด็กขี้กลัวไปเลย เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองต้องคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อนที่จะไปปรับพฤติกรรมเด็กค่ะและถึงแม้จะยังไม่สำเร็จในช่วงแรกก็ยังต้องทำแบบเดิมทุกครั้งค่ะ ทำไปเรื่อยๆ เด็กๆจะเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมได้ค่ะ หากทำๆหยุดๆก็เท่ากับว่าไม่ได้ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ใหม่และทำให้การปรับพฤติกรรมไม่ประสบความสำเร็จค่ะ 

 

2. ต้องยอมตามเด็กเท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาได้ 

การแก้ปัญหานี้ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ความคิดของผู้ปกครองค่ะ ผู้ปกครองบางท่านมีความคิดว่าการยอมตามเด็กหรือการตามใจเด็กในทุกกรณีคือการแสดงออกถึงความรักหรือเด็กบางคนเป็นเด็กที่มีปัญหาทางสุขภาพกาย เจ็บป่วยง่ายหรือมีปัญหาความสัมพันธ์ในบ้าน พ่อแม่แยกทางต้องอยู่กับญาติคนอื่น ทำให้ผู้ปกครองมองว่าเด็ก ‘ขาด’ อะไรบางอย่าง การตามใจจึงเป็นส่วนเติมเต็มสิ่งนั้นแต่หารู้ไม่ว่า การตามใจเล็กๆน้อยๆบ่อยครั้งก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมรุนแรงได้ น้าหมอขอยืนยันว่า การไม่ตามใจเด็กก็เป็นการแสดงออกถึงความรักที่ผู้ปกครองมีต่อเด็กได้ค่ะ การเตือน บอกสอนด้วยความใจเย็นและน้ำเสียงที่สงบขณะที่เด็กๆอารมณ์ร้อน การกอดหรือสัมผัสตัวเด็กอย่างอ่อนโยนในขณะที่เขาก้าวร้าวรุนแรง การอยู่ใกล้ในตอนที่เด็กยังจัดการอารมณ์ไม่ได้และช่วยสะท้อนอารมณ์ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เด็กๆรับรู้ได้ว่าคือความรักโดยไม่จำเป็นต้องตามใจค่ะ 

 

3. พ่อแม่ปรับได้ แต่ญาติคนอื่นไม่ทำตาม 

ข้อนี้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนและรับมือยากโดยเฉพาะในครอบครัวขยายที่มีสมาขิกในบ้านหลายคนค่ะ ต้องอาศัยสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ใหญ่ในบ้านจึงจะจัดการได้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องค่อยๆสื่อสารให้ญาติคนอื่นทราบถึงข้อเสียในการตามใจเด็กแต่ต้องสื่อสารไปในเชิงบวก เช่น ‘เข้าใจว่าคุณตา/คุณยายรักหลานมาก แต่การตามใจอาจทำให้หลานจัดการอารมณ์ได้ยากขึ้น’ 

เพราะหากคุณพ่อคุณแม่สื่อสารโดยพุ่งตรงไปที่ปัญหาโดยลืมมองข้ามความห่วงใยของผู้ใหญ่ในบ้านก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ค่ะ หรือหากแก้ไขไม่ได้จริงๆ อาจจะต้องลองวางแผนในการแยกมาเป็นครอบครัวเดี่ยวซึ่งขึ้นอยู่ความพร้อมของแต่ละครอบครัวด้วยค่ะ 

 

ท้ายสุด น้าหมออยากจะย้ำอีกครั้งว่าทุกการกระทำของเด็กๆนั้นเกิดจากการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมซึ่งก็คือครอบครัว ทุกการกระทำ ทุกท่าทาง น้ำเสียงและคำพูดของผู้ใหญ่อยู่ในสายตาของเด็กๆเสมอ หากเด็กๆร้องงอแงแล้วรู้ว่าผู้ใหญ่จะตามใจ เขาก็จะยังทำพฤติกรรมนี้ต่อ แต่หากว่าผู้ใหญ่เอาจริงเอาจัง ยึดในกติกาข้อตกลงและยืนยันกับเด็กๆไป เขาก็จะเริ่มเรียนรู้ใหม่ว่า วิธีนี้ไม่ได้ผลและหยุดพฤติกรรมนี้ไปค่ะ  

 

เป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองทุกท่านใจเย็นและมีอารมณ์ที่หนักแน่นมั่นคงเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกๆได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางใจในวันข้างหน้าค่ะ 

 

ด้วยรัก จากน้าหมอใบเฟิร์น 

 

NET PaMa