window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ทำความเข้าใจเมื่อลูกเป็นเด็ก Perfectionist (โรคสมบูรณ์แบบ)
เมื่อ 11 เดือนที่แล้ว

ทำความเข้าใจเมื่อลูกเป็นเด็ก Perfectionist (โรคสมบูรณ์แบบ) โดย แม่มิ่ง

เด็กแต่ละคนเติบโตมาบนพื้นฐานของร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา ความสามารถที่แตกต่างกันส่วนหนึ่งอยู่บนพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ต่างกัน สำหรับเด็กบางคนที่ชีวิตต้อง เป๊ะ!!! ทำอะไรต้องอยู่ในกรอบ หากมีความผิดพลาดใด ก็ตามขึ้นมาในชีวิต จะมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเศร้าเสียใจอย่างรุนแรง โมโหอย่างรุนแรง เป็นต้น เราเรียกโรคนี้ว่า โรคสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) 

โรคสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) คืออะไร 

Perfectionist คือ สภาวะจิตใจที่ยึดติด นิยมความสมบูรณ์แบบ นอกจากตนเองต้องสมบูรณ์แบบแล้ว สิ่งต่าง หรือแม้แต่คนรอบตัวต้องสมบูรณ์แบบตามไปด้วย เรียกว่ามีพฤติกรรมคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบ โดยทำทุกสิ่งที่ไม่ยอมให้ชีวิตเกิดความผิดพลาด แต่เมื่อไรก็ตามหากเกิดความผิดพลาดขึ้นทั้งจากตนเองหรือผู้อื่นรอบข้างจะมีผลต่อความรู้สึกรุนแรงและแสดงพฤติกรรมออกมารุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป โดยมีสาเหตุได้จาก 

  • เป็นมาตั้งแต่เกิด
  • การเลี้ยงดู 


ข้อมูลจาก
Medical News Today ได้กล่าวถึงการศึกษของโธมัส เคอร์แรน (Thomas Curran) และคณะ จากมหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ ระบุว่า สิ่งที่ตามมาจาการยึดติดความสมบูรณ์แบบ คือ ปัญหาด้านสุขภาพจิต ทั้งความวิตกกังวล ความกดดัน ความเครียด จนนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ หากรุนแรงมากอาจถึงขั้นทำร้ายตนเอง ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดหรือปลูกฝังความคิดใหม่ เพราะจะมีผลต่อาการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตได้ 

 

ลักษณะของเด็ก Perfectionist 

 

1. มีความคาดหวังในตนเองสูง จึงพยายามอย่างมากที่จะไม่ให้ชีวิตเกิดความผิดพลาด จึงเคร่งครัดในรายละเอียดทุกขั้นตอน ห้ามขาด ห้ามเกิน  จึงทุ่มเทกับสิ่งที่ทำมากจนไม่เผื่อใจสำหรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น  

2. แคร์สายตาคนรอบข้างมากกว่า คนอื่นจะคิดหรือมองตนเองยังไง มักจะรู้สึกแย่มากถึงมากที่สุดหากตนเองทำเรื่องผิดพลาดต่อหน้าคนอื่น  

3. จิตใจอ่อนไหว จึงหวั่นไหวง่ายกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง กลัว วิตกกังวลมาก จนบางครั้งเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ปิดกั้นตัวเอง 

4. มักมีความลังเลสูง ลำดับความสำคัญก่อน-หลัง ไม่เป็น 

5. หากทำสิ่งใดเกิดความผิดพลาดนอกจากความเครียดที่เกิดกับสภาพจิตใจแล้ว ยังมีอาการทางกายอื่น เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นต้น 

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลูกเป็น Perfectionist 

1. ปรับทัศนคติของตนเองด้วยการมองลูกตามความเป็นจริง 

เริ่มจากตัวคุณพ่อคุณแม่เองต้องทำความเข้าใจและยอมรับในตัวลูก ประเมินความสามารถของลูกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่คาดหวังอยากให้ลูกเป็น ควรเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการของลูกอย่างรอบด้าน เพื่อให้ลูกรู้จักว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร สิ่งใดทำได้ดี เพื่อให้ลูกดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและมองโลกตามความเป็นจริง 

2. ทำให้ลูกเข้าใจ หากชีวิตไม่สมบูรณ์แบบ ก็ไม่ใช่ปัญหา 

การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิดของลูกควรกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยการแสดงให้เห็นว่า ความไม่สมบูรณ์แบบเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ และความผิดพลาดไม่ได้ทำให้ชีวิตล้มเหลวเสมอไป เหมือนกับการแข่งขันกีฬา ชนะได้ก็แพ้ได้ แพ้ได้ ก็ชนะได้  ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจส่งเสริมให้ลูกเล่นกีฬา หาโอกาสให้ลูกได้มีการแข่งขัน เพื่อให้ลูกค่อย ๆ เรียนรู้ความรู้สึกของการชนะและการพ่ายแพ้ และการมีน้ำใจเป็นนักกีฬา เพื่อให้ลูกไม่ยึดติดกับความสำเร็จ หรือการชนะเพียงอย่างเดียวและสอนให้ลูกไม่สิ้นหวังกับความพ่ายแพ้  รวมถึงผลักดันให้มีพลังและทัศนคติด้านความพยายามในการฝึกฝนตนเองต่อไป   

3.เรียนรู้อย่างมีเป้าหมายและการรู้จักปล่อยวาง 

การเลี้ยงลุกปลูกฝังให้เป็นคนมีเป้าหมาย แต่ต้องใส่ใจรายละเอียดระหว่างทางไปถึงเป้าหมาย รู้จักยืดหยุ่นความคิด เพราะกว่าจะถึงเป้าหมายได้นั้น ต้องใช้ทักษะชีวิตมากมายประกอบกัน ทั้งความอดทน ความเพียรพยายาม ความมุ่งมั่น  รวมถึงการเรียนร็จากความผิดพลาด สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องสอน คือ การรู้จักปล่อยวางในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะความคิด ความรู้สึกของผู้อื่นที่มีต่อตัวเรา หรือสิ่งใดก็ตามที่เราควบคุมไม่ได้สิ่งนั้นกำลังบอกให้เราเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง”  

4. สอนลูกรู้จักอารมณ์ของตนเอง 

ในชีวิตประจำวันต้องพบเจอกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่ออารมณ์ คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกคุยถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้น  “ตอนนี้ลูกรู้สึกอย่างไรเพื่อให้ลูกได้ลองสำรวจอารมณ์ตัวเองในขณะนั้น หรือหากพ่อแม่สังเกตเห็นอารมณ์แบบไหนในตัวลูกก็สามารถสะท้อนให้ลูกฟังได้ เช่น แม่สังเกตเห็นลูกดูเงียบ ไป ตั้งแต่กลับจากโรงเรียน ลูกมีอะไรอยากบอกแม่หรือเปล่าจ๊ะหรือดูท่าทางลูกกำลังดีใจ ยิ้มแก้มปริมาเลยนะ ต้องมีอะไรดี สนุก มาเล่าให้แม่ฟังแน่ๆเลยใช่ไหมเป็นต้น การพูดสะท้อนอารมณ์ให้ลูกเรียนรู้ความรู้สึก อารมณ์ตนเองในขณะนั้น สำคัญมาก เพราะเด็กที่เข้าใจอารมณ์ตนเอง มักจะมีแนวโน้มในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าเด็กที่ไม่เข้าใจอารมณ์ตนเอง 

5. สอนลูกจัดการความเครียด 

เด็กที่มีแนวโน้มเป็น Perfectionist มักจะมีความเครียด ความกดดันในตนเองสูง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกให้จัดการความเครียดด้วยวิธีการต่าง เช่น  การฝึกสมาธิ  การตั้งสติด้วยการนับ 1 – 10 ในใจ การฝึกหายใจ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น นอกจากนี้การออกกำลังกายส่ำเสมอช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายร่างกายและจิตใจได้ดีอีกด้วย  วิธีการต่าง เหล่านี้แม้จะไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหาแต่ช่วยให้ลูกมีวิธีการผ่อนคลายตนเองเพื่อรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ 

วิธีการแก้ไข ช่วยเหลือความเป็น Perfectionist ต้องอาศัยความเข้าใจ  เห็นใจ อดทน เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆที่จะสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว การปรับทัศนคติ ความคิดของคนล้วนต้องอาศัยเวลา แต่เมื่อสามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว นอกจากความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยกันฝ่าฟันอุปสรรคในการเลี้ยงดูลูก ยังสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัวอย่างยั่งยืนอีกด้วย 

#Perfectionist #โรคสมบูรณ์แบบ #NetPAMA  

NET PaMa