window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ลูกต่อต้าน ต่อรองเก่ง รับมืออย่างไรดี
เมื่อ 11 เดือนที่แล้ว

รับมือลูกดื้อต่อต้านและช่างต่อรอง บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์

 

วันนี้พาลูกสาว 6 ขวบไปเรียนว่ายน้ำค่ะ ลูกเริ่มงอแงต่อต้านไม่อยากเรียน อ้างว่าพอคุณครูเริ่มขึ้นท่าว่ายแล้วยาก เหนื่อย กลัวจมน้ำด้วย พอไปถึงรีบบอกคุณครู วันนี้หนูปวดแขนขอใช้โฟมเกาะบ้าง ถ้าไม่ใช้โฟมขอเลิกเร็วหน่อยได้ไหม โอดโอยต่อรองด้วยเหตุผลสาระพัด พอสิ้นสุดเสียงลูกสาวก็มีเสียงจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งข้างสระลอยมาเบาๆว่า “เด็กสมัยนี้ต่อรองเก่งจริงๆ สมัยเราไม่มีเป็นอย่างนี้หรอกนะ !" ???? 

 

พ่อแม่หลายท่านอาจจะอ่อนเปลี้ยเพลียใจเหลือเกิน กับความดื้อช่างต่อต้านต่อรองของลูกใช่ไหมคะ ส่วนตัวก็เคยมีความคิดว่า อย่าปล่อยให้ลูกต่อรองเพราะจะทำให้ติดเป็นนิสัย แต่พอได้มาศึกษาวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกก็ทำให้ความคิดเรื่อง การต่อรองของลูกเปลี่ยนไปบ้างจริงๆค่ะ  

 

ลองคิดเป็นใจเรา “เราอยากให้หัวหน้าที่ทำงานออกกฎสั่งให้เราทำตามเท่านั้น ห้ามออกความเห็น หรืออยากให้โอกาสเราได้บอกความต้องการ และรับฟังความคิดเห็นของเราบ้าง” 

  

ดังนั้นความเชื่อที่ว่า ลูกต้อง "เชื่อฟัง" และทำตามพ่อแม่บอกทุกอย่าง จะดีกว่าไหม ถ้าลูกและพ่อแม่เปิดใจ “รับฟัง”ความคิดเห็นและเหตุผลของกันและกันบ้าง 

  

สำหรับเราการที่ลูกรู้จักต่อรองมีด้านดี คือ ลูกสามารถคิดทบทวนและบอกได้ถึงความต้องการของตัวเองให้พ่อแม่ได้รับรู้ ฝึกที่จะคิดเป็นเหตุเป็นผลโดยหาเหตุผลนานาเพื่อมาหว่านล้อมแม่  

  

และการที่ลูกต่อรอง นั่นคือสัญญาณที่ลูกไว้ใจว่า “พ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัย” เป็นคนที่รับฟังเค้า ไม่ใช่คนที่เอาแต่สั่งให้ทำตามเท่านั้น ทำให้ลดการดื้อและต่อต้านลงได้มาก 

  

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ควรจะปล่อยให้ลูกต่อรองได้ในทุกเรื่องนะคะ  

  

หากเป็นเรื่องที่เป็นระเบียบวินัยหรือความปลอดภัยและจำเป็นต้องทำจริงจังก็ต้องยึดมั่นในกฎระเบียบและเคารพกติกาซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พ่อแม่ควรตั้งกฎให้ชัดเจน มั่นคง ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หากลูกต่อรองในเรื่องนี้เราสามารถรับมือและสื่อสารลูกได้ดังนี้ค่ะ  

  

ใช้วิธี Kind But Firm ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน รับฟังสะท้อนความรู้สึกของลูก และตอบกลับด้วยท่าทีอ่อนโยนแต่ยืนยันหนักแน่นกับลูกในสิ่งที่ถูกต้อง

  

"แม่เข้าใจจริงๆ ว่าการว่ายน้ำไม่ง่ายเลย หนูเหนื่อยและกลัวจมด้วย แต่ลูกจำเป็นต้องเรียนเพราะการว่ายน้ำคือทักษะสำคัญในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยทางน้ำ แม่จะบอกคุณครูว่า เวลาหนูว่ายแบบไม่ใช่โฟม ให้ครูดูแลหนูใกล้ชิด และแม่สัญญาว่า แม่ก็จะดูหนูตลอดเวลา หนูจะได้มั่นใจว่าปลอดภัย และถ้าหนูเหนื่อยมากๆ จริงๆ อาจจะขออนุญาตคุณครูขึ้นมาพักกินน้ำบ้าง ดีไหมจ๊ะ" 

  

"แม่เข้าใจว่าหนูไม่อยากนั่งคาร์ซีท อยากให้แม่นั่งกอด แต่หนูต้องนั่งคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัย ถ้าหนูไม่นั่งเราก็จะไม่ออกรถกันนะจ๊ะ"

 . 

"แม่รู้จริงๆ ว่าหนูอยากเล่นเกมต่อเพราะกำลังถึงตอนสนุก แต่เราต้องเลิกแล้ว เพราะเวลาครบตามกำหนดที่เราตกลงกัน ไว้ครั้งหน้าหนูลองคิดดูว่า จะทำยังไงดี ให้หนูไม่ต้องเลิกตอนที่เกมกำลังสนุกอยู่"  

"หนูรู้แล้วค่ะ แม่ ครั้งหน้าหนูจะตั้งเวลาก่อนถึงเวลา 10 นาที หนูจะได้วางแผนการเล่นได้ค่ะ" 

"แม่ดีใจมากๆเลย ที่หนูรักษากฎและกติกาของเรา และรู้จักวางแผนแก้ปัญหา ขอบคุณนะจ๊ะ"  

 . 

ส่วนบางเรื่องที่ลูกตัดสินใจได้เองเลย ก็ควรปล่อยให้ลูกได้ตัดสินใจ เช่น ชุดที่ใส่ รสที่อยากกิน ส่วนบางเรื่องหากเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำแต่สามารถยืดหยุ่นได้บ้าง ก็อาจให้ลูกได้ร่วมออกความเห็นได้ เช่น เวลาที่จะอาบน้ำ เวลาทำการบ้าน หรือ เวลาเล่นอิสระ ให้ลูกร่วมคิด กำหนดกฏ กติการ่วมกัน และให้ลูกได้เลือกและตัดสินใจด้วย จะทำให้ลูกรู้สึกว่า ลูกมีอิสระในตัวเอง พ่อแม่เคารพเขา และเขาสามารถตัดสินใจเรื่องของตัวเองได้บ้าง 

 . 

"เรียนว่ายน้ำเสร็จแล้วหนูอยากเล่นน้ำต่อ แม่เข้าใจจริงๆ แต่ถ้าเล่นนานมาก มันจะเลยเวลาอาหารกลางวัน หนูว่าหนูจะหิวไหมจ๊ะ"  

"ก็น่าจะหิวค่ะแม่" 

"งั้นหนูว่า เราจะทำยังไงดี หนูจะขึ้นเลย หรือ เล่นต่ออีก 10 นาทีดีจ๊ะ แม่ให้หนูเลือก"  

"หนูขออีก 10 นาทีนะคะแม่ พอครบหนูจะไม่โอ้เอ้ รับขึ้นอาบน้ำไวๆ จะได้ไม่หิว" 

"การบ้านเราควรทำให้เสร็จก่อนเย็นวันอาทิตย์ ลูกคิดว่า ลูกอยากจะทำเวลาไหนดีจ๊ะ" 

"แม่รู้ว่าตอนนี้หนูสนุกกับการระบายสีอยู่ แต่ถ้าหนูยังไม่ไปรีบอาบน้ำเราจะขึ้นห้องนอนดึก และ 2 ทุ่มจะถึงเวลานอนที่เราตกลงกันแล้ว ถ้าเวลาไม่พอ คืนนี้เราจะต้องนอน โดยไม่ได้อ่านนิทานกันนะจ๊ะ หนูว่าเราเอายังไงกันดีจ๊ะ" 

 . 

เหมือนจะไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายเลยใช่ไหมคะ เพราะการสร้างและรักษาวินัยเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ซึ่งการรับฟังเปิดโอกาสให้ลูกได้บอกความต้องการตัวเองบ้างก็สำคัญไม่แพ้กัน ถึงแม้บางเรื่องเราอาจไม่สามารถยอมให้ลูกต่อรองได้ แต่เพียงการรับฟังก็จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกมีคุณค่า ลดความตึงเครียดและต่อต้าน ที่สำคัญจะทำให้ลูกไว้วางใจพ่อแม่ กล้าพูด กล้าปรึกษาปัญหาต่างๆ กับเราในอนาคตด้วยค่ะ 

 . 

แล้วลูกๆ ที่บ้านชอบต่อรองอะไรกันบ้าง และ ใช้วิธีไหนได้ผลในการรับมือมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ  

. 

สำหรับพ่อแม่ที่สนใจร่วมเป็นสมาชิกเน็ตป๊าม้า สามารถลงทะเบียนคอร์สเรียนต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเชิงบวกได้ทาง www.netpama.com ! ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ได้ผลมากจริงๆ 

  

ฝึกฝนเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกันค่ะ ❤️ 

NET PaMa