window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ทำอย่างไรให้ลูกเปิดใจเล่าปัญหาและไม่ปิดบัง
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ทำอย่างไรให้ลูกเปิดใจเล่าปัญหาและไม่ปิดบัง บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์

ปัญหาที่เจอกันบ่อยแทบทุกบ้าน ไม่ว่าจะเด็กเล็กเด็กโต หรือวัยรุ่น บ้านนี้ก็เคยเป็นค่ะ ลูกมีอะไรไม่ค่อยจะยอมเล่า ถามเรื่องที่โรงเรียนก็ไม่ค่อยจะตอบ บางบ้านอาจคิดว่าเป็นเพราะเราไม่มีเวลาให้ลูกมากนัก แต่บางบ้านก็สงสัยทั้งๆ เราก็มีเวลาอยู่กับลูกใกล้ชิด แต่ทำไมมีอะไรลูกก็ยังไม่เล่า บางเรื่องแม่ต้องไปรู้จากคนอื่น ยิ่งเข้าช่วงวัยรุ่นก็ยิ่งหนักหนาสาหัสกันเลยทีเดียว 

  

แล้วปัญหามันเกิดจากอะไรนะ ?  

  

ก่อนอื่นขอให้พ่อแม่ลองตอบคำถามด้านล่างนี้ก่อน หากวันหนึ่งลูกของเราหงุดหงิด กะฟัดกะเฟียดเดินหน้าง้ำเข้ามาเล่าให้เราฟังว่า 

  

“แม่คะ วันนี้หนูอารมณ์เสียสุดๆ ! เมื่อคืนหนูอุตส่าห์ทำการบ้านจนดึก แต่ดันลืมเอาสมุดการบ้านไป คุณครูก็ไม่ฟังเหตุผลพูดเหมือนหนูไม่ได้ทำการบ้านมา และ หักคะแนนหนู ครูแย่มาก ! “ 

  

ปฎิกริยาและการตอบกลับลูกที่จะออกจากเราทันทีคือ… 

แม่ฝ่ายค้านขอติไว้ก่อน : "ว่าครูไม่ได้นะ แม่บอกกี่ครั้งกี่หนให้เตรียมจัดของให้ดีตั้งแต่ตอนเย็น โดนครูตัดคะแนนก็สมควร หนูจะได้จำไม่ลืมในครั้งหน้า" 

  

แม่ผู้สั่งสอน : "ลูกก็ควรอธิบายยืนยันหนักแน่นกับครูว่าลูกทำแล้วจะรีบเอามาส่งพรุ่งนี้ แล้วลูกก็ควรเช็คของให้ดีก่อนไปโรงเรียนให้ดีด้วยมันจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก" 

  

แม่ผู้ถามกลับรัวๆ : "แล้วทำไมลูกถึงลืม ลูกไม่ได้จัดตารางเรียนเหรอ? ลูกอธิบายยังไง ทำไมครูไม่เชื่อลูก ?" 

  

แม่ผู้เป็นไลฟ์โค้ช : "เรื่องเล็กมากน่ะลูก ในชีวิตลูกยังต้องเจอปัญหาอะไรอีกมากมาย จำเอาไว้เป็นบทเรียนชีวิตอย่าผิดซ้ำอีก"  

  

แม่ปลอบโยนแต่โนสนโนแคร์ความรู้สึก : "ไม่เป็นไร ช่างมันเถอะลูก โมโหไปก็แก้ไขไม่ได้ มันผ่านไปแล้วเอาเวลามาทำการบ้านอ่านหนังสือวันนี้ดีกว่า" 

  

แม่เล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์ : "ทำไมครูทำแบบนี้ แย่มาก! ครูไม่มีเหตุผลเลย เอา line กับชื่อครูมา แม่ไม่ยอม แม่จะต้องเคลียร์เรื่องนี้ เดี๋ยวแม่จะเอาไปโพสลงโซเชี่ยลกับไลน์กลุ่มด้วย" (ร้อนยิ่งกว่าไฟ ลูกฉันใครอย่าแตะ)

  

แม่ผู้รับฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ : "แม่เข้าใจเลย ลูกคงรู้สึกแย่มากๆ อุตส่าห์ทนง่วงทำการบ้านจนดึก แต่ดันลืมเอาการบ้านไป เลยต้องถูกตัดคะแนน มันน่าอารมณ์เสียจริงๆ" 

  

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เราเป็นพ่อแม่สไตล์ไหน ? เรามักจะตอบกลับลูกอย่างไร? 

  

สารภาพว่า ตอนที่ตัวเองเจอปัญหาลูกไม่เล่า เพราะเราเป็นแม่สไตล์ชอบสั่งสอน ฟังลูกนะแต่ฟังเพื่อรอจะสอน อยากช่วยแก้ปัญหา ทั้งๆ ที่จริงๆ ลูกแค่อยากระบาย แต่พอรู้สึกถึงปัญหา ก็พยายามเปิดใจ ศึกษาวิธีการที่ถูกต้อง ปรับตัวจนทุกอย่างดีขึ้น จนตอนนี้ลูกสาวแย่งกันเล่ารัวๆ จนแม่ต้องแทบตะโกนร้องขอชีวิต ส่งบัตรคิวให้ต่อแถว จะได้ไม่ต้องแย่งกันเล่า ขอแค่เอาใจลูกมาใส่ใจเรา เรารู้สึกอย่างไรกับคำตอบในแต่ละแบบ เราอยากได้คำตอบแบบไหนเมื่อเราเจอปัญหา ลูกก็เช่นเดียวกันค่ะ  

  

เวลาลูกเผลอทำผิดพลาด มีเรื่องไม่สบายใจหรือเจอปัญหา สิ่งแรกที่ลูกต้องการคือใครสักคนที่เค้าไว้ใจให้โอกาสเขาได้ระบายความรู้สึก รับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช่คอยแต่จะซ้ำเติมด้วยการตำหนิ หรือฟังเพื่อรอแต่จะสอนให้คำแนะนำ ตั้งคำถามกลับโดยไม่สนใจความรู้สึกของเขา

 

ซึ่งในบางครั้ง เมื่อลูกได้ระบายและสามารถจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองได้แล้ว ลูกก็จะสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องการคำแนะนำใดๆจากพ่อแม่เลย 

  

และนี่คือข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่เพื่อให้ลูกไว้ใจอยากเล่าและไม่ปิดบังเรา สามารถเริ่มต้นได้โดย 

  

1. ฟังด้วยความตั้งใจ หยุดวางมือจากทุกสิ่งอย่าง มองตาลูกขณะฟัง รับฟังลูกอย่างเข้าอกเข้าใจ ยอมรับและสะท้อนความรู้สึกของลูก 

"พ่อฮะ ผมหงุดหงิดมาก วันนี้ผมแข่งบาสแพ้ เพราะผมดันชู้ตลูกโทษสุดท้ายพลาดไม่น่าเลย" 

พ่อปิดโทรทัศน์ หันหน้ามาหาลูกฟังอย่างตั้งใจ ฟังดูลูกหงุดหงิดจริงๆ "ไหนลองเล่าให้พ่อฟังสิ การแข่งเป็นยังไง" 

  

2. เป็นผู้รับฟังที่ดี ไม่ตัดสินผิดถูก เพราะบางครั้งในการเล่า ลูกไม่ได้ต้องการคำแนะนำสั่งสอน ลูกต้องการแค่ใครสักคนที่เข้าใจ รับฟัง ให้เค้าได้ระบายความรู้สึกเท่านั้น 

  

“แม่รู้เลยว่าหนูเสียใจมาก แม่ดีใจและขอบคุณลูกจริงๆ ที่ไว้ใจเล่าเรื่องนี้ให้แม่ฟังนะจ๊ะ ลูกอยากให้แม่ช่วยอะไรบ้างไหม บอกมาได้เลยนะ” 

3. มีเวลาเพื่อรับฟังลูก เพราะคนเราทุกคน มักจะมีเวลาให้กับสิ่งที่เราเห็นความสำคัญเสมอ ไม่ปฎิเสธ ตัดบท เหมือนจะฟังแต่ไม่ฟัง หรือทำเสียงรำคาญเมื่อลูกเล่า

"เหรอๆ อืมๆ"

"เรื่องแค่นี้เอง พ่อว่าลูกเล่ามาเป็นสิบรอบแล้วนะ พอได้แล้ว"

"เอาไว้ก่อนนะแม่ยุ่ง ไว้มีเวลาค่อยมาคุยกัน" 

  

4. ไม่นำเรื่องที่ลูกเล่าไปเล่าต่อ ไม่ว่าจะเพื่อระบายความโกรธ อวดภูมิใจ หรือ ตลกเอ็นดู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโพสบรรยายลงโซเชียลมีเดีย หรือไลน์กลุ่ม ที่พบเห็นได้บ่อยๆในตอนนี้ เพราะจะทำให้ลูกสูญเสียความเชื่อใจและความไว้ใจที่มีให้เราทันที 

  

เพราะเรื่องที่ดูเล็กเหลือเกินในวันนี้ในสายตาพ่อแม่ คือ เรื่องใหญ่มากมายในใจของลูก หากลูกรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่เห็นความสำคัญ ไม่รับฟังในเรื่องของเค้า หรือ ตัดสินทุกอย่างตามแต่ใจพ่อแม่ โดยไม่เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของลูก ต่อไปลูกก็จะไม่เล่าในที่สุดไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ตาม  

  

“ฟังลูกด้วยใจ ตอบกลับลูกด้วยความเข้าอกเข้าใจ พร้อมเคียงข้างช่วยเหลือเมื่อลูกต้องการโดยไม่ตัดสินถูกผิดในวันที่ลูกมีปัญหา คือ รากฐานที่สำคัญที่จะทำให้ลูกเปิดใจเล่าทุกอย่างโดยไม่ปิดบังเรา “ 

  

หากต้องการเรียนรู้วิธีการรับฟังและพูดกับลูกในเชิงบวกแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองเรียนคอร์สออนไลน์ฟรีๆที่ www.netpama.com นะคะ ❤️ บอกเลยว่าคุ้มค่าจริงๆค่ะ  

NET PaMa