window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
เราต้องโตแค่ไหน ถึงจะได้เป็นตัวเอง ?
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
ตั้งแต่เด็กหลายคนอาจจะเคยถามผู้ใหญ่ว่า เราอยากลองแต่งหน้า-แต่งตัวในแบบที่เราชอบ ไหนจะเรื่องการไว้ทรงผม และการแสดงออกถึงบุคลิกลักษณะต่าง ๆ ที่เราเลือกจะเป็น ณ เวลานั้น ซึ่งคงเป็นส่วนน้อยที่พวกเราจะได้รับอนุญาตให้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะสังคมได้กำหนดกฎเกณฑ์ และขอบเขตข้อจำกัดสำหรับเด็กไว้เพื่อความ “เหมาะสมกับวัย” ตามที่ผู้ใหญ่ได้อธิบายไว้

“รอโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนค่อยทำนะลูก เรายังเด็กอย่าเพิ่งสนใจเรื่องพวกนี้จะดีกว่านะ”

แน่นอนว่าการสร้างกรอบข้อปฏิบัติเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาจากความกังวลหลาย ๆ ข้อของผู้ใหญ่ อาทิเช่น กลัวว่าเด็กจะโตเร็วเกินไป กลัวว่าจะดูไม่น่ารักสมวัย กลัวจะดูไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย ไปจนถึงกลัวสิ้นเปลืองเงิน ซึ่งความกังวลเหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดเป็น “กฎระเบียบ” และ “ความเหมาะสม” สำหรับเด็กขึ้นมา เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ปกครองขึ้นมา และผู้ใหญ่ก็เชื่อมั่นว่าหากเด็กปฏิบัติตามแนวทางที่ว่านี้ เขาจะไม่หลุดออกจากบรรทัดฐานของสังคม และเขาก็จะปลอดภัยจากคำครหาต่าง ๆ ของสังคมอย่างแน่นอน

“ดูเด็กคนนั้นสิ อายุยังไม่เท่าไหร่เลย แต่งหน้าทาปากแล้ว แก่แดดจริง ๆ”

แน่นอนว่าหากผู้ใหญ่นั้นมีความกังวล ตัวเด็กเองก็สามารถมี “ความอึดอัด” ได้เช่นกัน เป็นเวลาหลายสิบปีที่เด็ก ๆ รวมถึงผู้ที่เคยเป็นเด็กมากมายได้ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎระเบียบเรื่องการแต่งกาย การไว้ทรงผม ไปจนถึงการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ต่าง ๆ พวกเขามองว่ากฎระเบียบเหล่านี้คือการตีกรอบให้ทุกคนในสังคมนั้น “เหมือนกัน” ทั้งที่พื้นฐานของความเป็นมนุษย์นั้นเราถูกสร้างขึ้นมาอย่าง “แตกต่าง” เรามีร่างกายของตัวเอง มีรสนิยมของตัวเอง มีความต้องการและข้อจำกัดเป็นของตัวเอง แต่ทำไมสังคมจึงคาดหวังให้พวกเขานั้นเหมือนกันราวกับออกมาจากบล็อคพิมพ์ของโรงงาน

“เราไม่ได้อยากดูดีเพื่อเอาใจใคร เราแค่ต้องการความมั่นใจของเราคืนมา”

หากท่านไม่เข้าใจประโยคนี้ ให้ท่านลองนึกภาพตามว่า กว่าที่ตัวตนของเราจะเกิดขึ้นมาได้จนถึงวัยผู้ใหญ่นั้น เราผ่านการหล่อหลอม เรียนรู้ และคัดสรรด้วยประสบการณ์ และความรู้สึกต่าง ๆ นับไม่ถ้วน และแน่นอนว่ากระบวนการประกอบสร้างตัวตนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองภายในชั่วเวลา 1 เดือนหลังรับปริญญา แต่มันคือสิ่งที่เราต้องค้นหาและหล่อหลอมมันขึ้นมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่เมื่อกรอบทางสังคมจำกัดให้การค้นหาตัวตนของเด็กหายไปแล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้น เขาอาจไม่สามารถค้นพบได้ว่าเขาต้องการอะไร เพราะเขาเคยชินกับการ “รอ” สิ่งผู้ใหญ่เลือกสรรให้จนกว่าเขาจะโต ดังนั้นหากคุณได้สร้างเด็ก 1 คนขึ้นมาภายใต้กรอบเล็ก ๆ แต่กลับตั้งความคาดหวังว่าเด็กคนนั้นจะต้องรู้จักตัวเองได้ทันทีเมื่อเขาอายุถึงเกณฑ์ผู้ใหญ่ นั่นก็อาจเป็นความคาดหวังที่ไม่ยุติธรรมเอาเสียเลยกับชีวิตของเด็กคนนึง

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้เด็ก ๆ มากมายยังขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะเขาไม่สามารถเลือกอะไรให้ตัวเองได้เลย เด็ก ๆ หลายคนรู้สึกว่าตัวเอง “น่าเกลียด” เมื่อต้องถูกบังคับตัดผม หลายคนถูกล้อเลียนทั้งจากเพื่อนฝูงวัยเดียวกันและจากผู้ใหญ่ เพราะว่าตัวตนของเขานั้นไม่เข้ากับกรอบที่ถูกวางมาให้เขาเอาเสียเลย เด็กวัยรุ่นหลายคนเริ่มถึงช่วงค้นหา และค้นพบตัวเอง พวกเขากำลังเรียนรู้ที่จะเชิดชูจุดเด่น และปกปิดจุดด้อยของตัวเอง แต่แน่นอนว่าพวกเขาก็ยังไม่ได้รับอิสระในการแต่งหน้าหรือแต่งตัวอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นช่วงใน หรือนอกเวลาเรียนก็ตาม “ความเหมาะสม” เหล่านี้จะตามไปตีกรอบชีวิตของพวกเขาอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ค้นพบว่าเพศวิถีของตนไม่ตรงกับเพศกำเนิด การบังคับให้เขาติดอยู่ในอัตลักษณ์ของเพศที่เขาไม่ได้เลือกจะเป็นไปจนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่นั้น เป็นการพรากตัวตนของเด็กคนนึงออกไปโดยสมบูรณ์ ทำให้เกิดคำถามที่ปะทุอยู่ในใจเด็ก ๆ มากมายว่า

“แม้แต่สิทธิ์ที่จะได้เป็นตัวของฉันเอง ฉันยังไม่ได้รับมันเลย แล้วเมื่อไหร่ฉันจะโตพอ ใครกันที่มีสิทธิ์อนุมัติสิ่งที่มันควรเป็นของฉันมาตั้งแต่ต้นให้กับฉัน”

ท้ายที่สุดแล้ว ทุก ๆ คนล้วนอยากดูดี ทุก ๆ คนอยากเดินออกมาจากบ้านอย่างมั่นใจ และภาคภูมิใจทุกครั้งที่คนรอบข้างชมว่าเรานั้นดูดีในแบบที่เราเลือกจะเป็น หากผู้ใหญ่รู้สึกเช่นนั้นได้ เด็กเองก็รู้สึกได้เช่นกัน เราทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกเป็นของตัวเอง การใช้ความรู้สึกของเราไปตีกรอบคนอื่นว่าเขาจะต้องทำแบบไหนถึงจะดีย่อมไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ และเราเชื่อมั่นว่า การยอมรับและอยู่ร่วมกับความแตกต่าง คือพื้นฐานของการสร้างสังคมที่สมบูรณ์

เขียนและเรียบเรียง : สิรวิชญ์ ไทยทวีไพศาล
ภาพถ่ายโดย : Anna Shvets จาก Pexels
.
ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ Net PAMA ได้ทาง
FB: Net PAMA: เน็ต ป๊าม้า
Website: www.netpama.com
E-mail: contact@netpama.com
NET PaMa