window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
พ่อแม่จะรับมืออย่างไรกับการสูญเสียลูก ๆ อันเป็นที่รัก
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
คำเตือน เนื้อหานี้อาจมีส่วนเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนต์ Dr Strange in the Multiverse of Madness
สำหรับผู้ที่ชมภาพยนตร์มาแล้ว และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับการก้าวผ่านความสูญเสียของตัวละครในเรื่องก็ตามมาเลยครับ
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
ในเรื่อง Dr Strange in the Multiverse of Madness ตัวละครหลักที่โดดเด่นไม่แพ้หมอแปลกคงหนีไม่พ้น Scarlet Witch ซึ่งสร้างความแปลกใจไม่น้อยเพราะในภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ เธอเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ แต่ในเรื่องนี้กลับกลายเป็นวายร้าย
 
หากผู้ที่ติดตาม Marvel อยู่แล้วคงทราบดีว่า ก่อนหน้านี้ Wanda Maximoff ต้องประสบกับการสูญเสียอยู่ซ้ำ ๆ ตั้งแต่สูญเสียพี่ชายฝาแฝดใน Age of Ultron สูญเสียสามีที่เธอรักใน Infinity War และยังสูญเสียลูก ๆ ของเธอในซีรีส์ Wanda Vision ซึ่งท้ายที่สุดเธอได้ตัดสินใจที่จะตามหาลูก ๆ ของเธอในพหุจักรวาลอื่น เธอยอมที่จะทำทุกอย่างเพียงเพื่อให้มีโอกาสได้รักและดูแลลูก ๆ ของเธออีกครั้ง
 
การสูญเสียลูกอันเป็นที่รักไปก่อนวัยอันควรเป็นเรื่องยากที่ผู้เป็นแม่จะทำใจได้
 
บทความนี้จะพูดถึง Five Stages of Grief ของจิตแพทย์ชาวสวิสต์ Elisabeth Kübler-Ross ซึ่งอธิบายถึงการก้าวผ่านความสูญเสียซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ การเข้าใจระยะของการก้าวผ่านความสูญเสียอาจจะทำให้เราพร้อมที่จะรับมือกับชีวิตและความสูญเสียได้ดีขึ้น วันนี้เรามาทำความเข้าใจทฤษฎีนี้ผ่านตัวละคร Scarlet Witch จากภาพยนตร์เรื่อง Dr Strange in the Multiverse of Madness กันครับ
 
ระยะปฏิเสธ (Denial)
เมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสียสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นในลำดับแรก ๆ คือการปฏิเสธ เรียกระยะนี้ว่า Denial ซึ่งความจริงแล้วการปฏิเสธเป็นกลไกป้องกันทางจิต (Defense mechanism) ในการปฏิเสธความจริงที่แสนปวดใจ เมื่อทราบข่าวร้ายผู้สูญเสียอาจเลือกที่จะไม่เชื่อตามความเป็นจริงและยังยืนยันที่จะเชื่อในสิ่งที่ตนเองเลือกจะเชื่อ ดังในตอนต้นเรื่องที่ Scarlet Witch ได้สร้างภาพลวงตาเสมือนจริงขนาดใหญ่ขึ้นมาที่แม้กระทั่ง Dr Strange ยังแยกไม่ออก แสดงให้เห็นว่าเธอเลือกที่จะเชื่อและอยู่ในโลกที่เธออยากให้เป็นทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น
 
ระยะโกรธ (Anger)
ต่อมาเป็นระยะโกรธ ความโกรธเป็นอารมณ์ด้านลบที่มีความรุนแรง ซึ่งความโกรธนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การแสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเท่านั้น แต่อาจแสดงออกมาในรูปแบบของการหาใครสักคนที่เป็นคนผิดหรือใครสักคนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งในตอนที่ Scarlet Witch บอกกับ Dr Strange ว่า “นายแหกกฎแต่นายกลับได้เป็นฮีโร่ แต่พอฉันทำบ้างฉันกลับเป็นคนผิด มันดูไม่ยุติธรรมเลย” แสดงให้เห็นถึงความคับแค้นใจอย่างมากของ Scarlet Witch และการเจรจาที่ล้มเหลว ระหว่าง Dr Strange กับ Scarlet Witch ก็เปรียบเสมือนการพยายามดับไฟด้วยน้ำมันทำให้ผู้สูญเสียยิ่งโกรธมากขึ้น เป็นผลให้ผู้คนมากมายในคาร์มาทาจได้รับบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก

ระยะต่อรอง (Bargaining)
ในระยะต่อรองหรือ Bargaining เป็นระยะที่ผู้สูญเสียจะต่อรองกับความเป็นจริง เมื่อสูญเสียลูกไป ความจริงของเธอคือการที่เธอจะไม่มีโอกาสได้สัมผัส ดูแล และไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันอีก เธอต่อรองกับความเป็นจริงด้วยการขอโอกาสที่จะได้อยู่กับลูก ๆ อีกครั้งโดยการใช้ Darkhole ข้ามไปหาลูก ๆ ที่อีกมิติจักรวาล ซึ่งหนทางที่เธอทราบดีว่าไม่ถูกต้องทั้งต่อตนเองและคนอื่น ๆ แม้ความจริงแล้วเธอเองอาจจะไม่ได้ต้องการที่จะทำร้ายใครเพียงแต่ต้องการที่จะอยู่กับลูก ๆ อีกครั้งเท่านั้น แต่เธอก็ยินยอมที่จะแลกทุกอย่างเพื่อชดเชยกับสิ่งที่สูญเสียไป
 
ระยะซึมเศร้า (Depression)
เช่นเดียวกับความโกรธ ความเศร้าไม่ได้แสดงออกมาในรูปแบบของการร้องไห้ฟูมฟายเสมอไป แต่สามารถเป็นไปในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของความอยากอาหาร ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ลดน้อยลงหรือไม่มีเลย รวมถึงปัญหาการนอน ในภาพยนตร์อาจจะไม่ได้มีฉากที่แสดงภาวะนี้ให้เห็นชัดเจนมากนัก แต่หากผู้ชมสังเกตแววตาของ Scarlet Witch หลายท่านอาจจะพบว่าในแววตาของเธอแสดงออกถึงความเศร้าได้อย่างชัดเจนแทบตลอดทั้งเรื่อง นี่อาจเป็น underlying feeling หรือความรู้สึกจริง ๆ ภายใต้สิ่งที่เธอแสดงออกมาทั้งหมดก็ได้

ระยะยอมรับ (Acceptance)
สุดท้ายแล้วมันจะผ่านไปครับ การยอมรับความจริงว่าความสูญเสียนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในระยะยอมรับ หรือ Acceptance เป็นการยอมรับความจริงหลังจากเผชิญความสูญเสียและความรู้สึกต่าง ๆ มากมาย ภาพยนต์ได้สื่อสารกับผู้ชมอย่างชัดเจนว่า สุดท้ายแล้ว “คนที่เข้าใจเราที่สุดก็คือตัวเราเอง” ด้วยการให้ Wanda หรือก็คือตัวเธอเองในอีกจักรวาลหนึ่งบอกกับเธอผู้ซึ่งกำลังเศร้าโศกและสะเทือนใจจากภาพที่เธอเห็นว่าลูก ๆ กำลังหวาดกลัวเธออย่างมากว่า “พวกเขาได้รับการดูแลอย่างดี” ทำให้เธอคลายจากความกังวล ความละอายใจ และความรู้สึกผิดที่เธอสูญเสียลูก ๆ ไป การยอมรับความจริงว่าเธออีกคนบนอีกจักรวาลกำลังดูแลเด็ก ๆ ได้อย่างดีทำให้เธอเข้าใจว่า เธอไม่สามารถเรียกคืนสิ่งที่สูญเสียไปแล้วได้ เธอจึงได้ตัดสินใจหยุดความความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเราเห็นได้จากสิ่งที่เธอทำในตอนท้ายของเรื่อง
 
สิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการดูแลบุคคลที่กำลังเผชิญกับความสูญเสียไม่ว่าจะเป็นระยะใดก็ตามคือ ความเข้าใจ ครับ ไม่เพียงแต่ผู้สูญเสียที่จะต้องเข้าใจและยอมรับว่าความสูญเสียเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่คนรอบตัวก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าเขาไม่ได้ต้องการที่จะเผชิญกับความความสูญเสีย ดังนั้นจึงไม่ควรบีบบังคับให้เขายอมรับความจริงให้ได้โดยเร็ว แต่ควรสร้างความมั่นใจให้กับเขาว่าจะมีผู้ที่คอยอยู่เคียงข้าง และเขาสามารถสื่อสารอารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความกังวล ความไม่สบายใจ ความกลัว หรือความโกรธ ออกมาได้ หากพบว่าเขามีอารมณ์รุนแรงและพร้อมที่จะปะทุตลอดเวลา สิ่งที่สามารถทำได้คือการแสดงความเห็นอกเห็นใจ และไม่ตัดสินว่าที่เขามีอารมณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ การแสดงออกถึงความเข้าใจจะช่วยลดการปะทะอารมณ์ที่รุนแรงลงได้
 
หากผู้สูญเสียมีสิ่งที่สามารถช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่ออื่น ๆ รวมถึงการมีครอบครัว เพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนที่คอยสนับสนุน การมีสัตว์เลี้ยง หรืองานอดิเรกต่าง ๆ ก็สามารถช่วยให้เกิดความสบายใจ และมีส่วนช่วยได้มากเช่นกันครับ ดังนั้นการให้กำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นกับผู้สูญเสียว่าเขาจะไม่ถูกทอดทิ้งไม่ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร และเขาสามารถขอความช่วยเหลือจากใครสักคนได้เสมอเมื่อเขาต้องการ จะช่วยให้เขาเข้มแข็งและทำให้เขาก้าวผ่านความสูญเสียไปได้อย่างแน่นอนครับ
 
แต่หากพบว่าผู้สูญเสียมีอาการผิดปกติไปอย่างมากในด้านต่าง ๆ เช่น ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้างเริ่มลดลงก็เริ่มน่าเป็นห่วงครับ หากมีอาการทางกาย กินไม่ได้ นอนไม่หลับร่วมด้วย หรือพบว่ามีความคิดอยากจบชีวิตตัวเองหรือตายตามผู้ที่จากไป ผู้เขียนแนะนำว่าควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษานะครับ

หวังว่าบทความนี้อาจจะช่วยให้เข้าใจตัวละครในภาพยนต์และในชีวิตจริงไม่มากก็น้อย
ผู้เขียนก็หวังว่า Wanda Maximoff the Scarlet Witch จะเรียนรู้ผ่านการสูญเสียได้ และกลับมาโลดแล่นในฐานะซุปเปอร์ฮีโร่ได้อีกครั้งในจักรวาลหนัง Marvel Cinematic Universe ครับ

เขียน: หมอ Triquetra
เรียบเรียง: นลินภัสร์ ศูนย์จันทร์
.
ติดตามข่าวสาร/สอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ Net PAMA ได้ทาง
FB: Net PAMA: เน็ต ป๊าม้า
Website: www.netpama.com
E-mail: contact@netpama.com
NET PaMa