window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
เลือกของขวัญอย่างไรให้ถูกใจลูก
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

เลือกของขวัญอย่างไรให้ถูกใจลูก (และอนาคตของลูก)

1. ค้นหาแรงบันดาลใจ (Find Inspiration)
         สิ่งสำคัญของการเลือกของขวัญที่ถูกใจคือ แรงบันดาลใจ การเลือกสิ่งที่เราอยากให้และลูกก็อยากได้ เริ่มต้นง่าย ๆ จากการทำความเข้าใจลูกในมุมใหม่ หรือมุมเดิมที่ลึกขึ้น (empathize) การใช้เวลากับลูกด้วยความสบาย ๆ เปิดหู เปิดตา เปิดใจ สังเกตและตอบโต้ตามเรื่องราวของลูกไปอย่างตั้งใจจะทำคุณพ่อคุณแม่ได้เห็นความชอบ ความสนุก แรงบันดาลใจ ความสนใจ และตัวตนของเขามากขึ้น จากนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้เวลาสั้น ๆ ก่อนนอนลองมาบันทึกว่าวันนี้ได้เห็นว่าลูกสนใจอะไร ชอบอะไร สนุกกับอะไร ตามที่ได้เห็นมา ตัวอย่างเช่น

วันนี้ฉันเห็นลูกเล่นเป็นนางฟ้าหลายครั้ง “ลูกน่าจะกำลังอินกับบทบาทของนางฟ้า” หรือ “ลูกชอบการเล่นแบบแสดงเป็นตัวละครต่าง ๆ”
วันนี้สังเกตว่าลูกอารมณ์ดี หัวเราะง่ายมากเวลาได้ยินเสียงเพลงหรือเวลาฮัมเพลงมั่ว ๆ แค่นี้ก็หัวเราะแล้ว “คิดว่าลูกน่าจะชอบเสียงเพลงนะ”

 

2. สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ (Create A Lot of Ideas)
          หลังจากที่ได้ลองบันทึกความชอบ ความสนใจของลูกไปแล้ว ขอเวลาอีก 5 นาที มาสร้างไอเดียของขวัญกันต่อเลยค่ะ ที่แนะนำให้ทำตอนนี้เพราะประสบการณ์ของคุณพ่อคุณแม่ที่มีกับลูกยังสดใหม่เป็นความทรงจำที่ยังชัดเจนที่แอบทำงานอยู่ในสมองเรา จะช่วยให้เราสร้างสรรค์ไอเดียที่ตรงใจลูกได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการก็ง่ายมาก ๆ ค่ะ ขั้นแรก ลองเปลี่ยนความสนใจของลูกให้เป็นโจทย์ อย่างเช่น

ความสนใจของลูก “ลูกน่าจะกำลังอินกับบทบาทนางฟ้า”
โจทย์ “เราจะช่วยให้ลูกได้มีประสบการณ์สนุก ๆ กับนางฟ้าได้ยังไง

ความสนใจของลูก “ลูกชอบแสดงละคร”
โจทย์ “เราจะช่วยให้ลูกได้ลองแสดงละครแบบใหม่ ๆ ได้อย่างไร”
.
          ขั้นตอนต่อไปใช้อีก 3 นาทีที่เหลือ คุณพ่อคุณแม่ลองเลือกโจทย์มา 1 ข้อแล้วสร้างไอเดียออกมา โดยยังไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพของคำตอบนะคะ ให้ลองสร้างไอเดียขึ้นมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนค่ะ ตัวอย่างจากโจทย์ในข้อนี้ “เราจะช่วยให้ลูกได้ลองแสดงละครแบบใหม่ ๆ ได้อย่างไร”

ตัวอย่างไอเดียที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ อย่างเช่น

  • พาไปเรียนการแสดง
  • เปิดนิทานเสียง แล้วให้ลูกแสดงตามนิทาน
  • อ่านนิทาน แล้วให้ลูกแสดงตาม
  • หยิบของรอบตัวมาให้ลูก แล้วให้ลูกแสดงละคร หรือเล่านิทานอะไรก็ได้
  • เราไปแสดงละครกับลูก
  • ชวนคนในบ้านทั้งบ้านมาแสดงละครกับลูก
  • เปิดหนังสือนิทานแล้วสลับกันพากย์เสียงกับลูก เล่าเรื่องจากภาพก็ได้ไม่ต้องอ่าน
  • ทำ theater day กิจกรรมทั้งวันสวมบทบาทเป็นพ่อมด แม่มดตลอดทั้งวัน
  • พาไปสวนสัตว์แล้วให้ลูกแสดงเป็น zoo keeper ลองอธิบายสัตว์ต่าง ๆ
  • พาไปสวนสาธารณะแล้วพาลูกแสดงเป็นนักพฤกษศาสตร์ศึกษาพรรค์ไม้
  • ชวนเพื่อนลูกมาทำ theater day กันที่บ้าน หรือที่ต่าง ๆ นอกบ้าน
  • ให้ลูกดูละคร แล้วแสดงตาม
  • พาไป cast เป็นนักแสดง
  • พาไปประกวดร้องเพลง เต้น
    .

หลังจากสร้างที่ได้ไอเดียต่าง ๆ มากมายเหล่านี้แล้วขั้นตอนต่อไป เราจะมาเลือกไอเดียดี ๆ เพื่อความสุขของลูกในวันนี้และเพื่ออนาคตที่ดีของลูกด้วยค่ะ

.
3. เลือกใช้ไอเดียดี ๆ (Pick & Test)

         การเลือกไอเดียเพื่อความสุขและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูก เริ่มจาก 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ค่ะ
  • ขั้นที่ 1 ตัดไอเดียที่คิดว่าไม่เหมาะกับวัย หรือกับพัฒนาการออกไปก่อน

ถ้าเป็นเด็กเล็ก อาจจะตัดไอเดียที่เกี่ยวข้องกับการให้นั่งดูหน้าจอคนเดียวนาน ๆ หรือกิจกรรมที่อาจจะเป็นอันตราย รวมถึงตัดสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ยังไม่พร้อมทำ เช่น ต้องใช้งบประมาณมากเกินไป ต้องใช้เวลาร่วมกันค่อนข้างมากออกไปก่อนได้ค่ะ

  • ขั้นที่ 2 เลือกไอเดียที่คิดว่าถ้าพาทำสิ่งนี้หรือว่าให้สิ่งนี้แล้วลูกน่าจะมีความสุข มาสัก 3-5 ไอเดีย
    .
  • ขั้นที่ 3 เรียงลำดับไอเดียตามประโยชน์ที่มีต่อพัฒนาการ หรืออนาคตของลูก
               ในขั้นตอนนี้ เราสามารถเลือกใช้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกด้านโดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกพัฒนาการด้านไหนก็ได้นะคะ หรือจะใช้ประสบการณ์ของคุณพ่อคุณแม่ก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ อย่างเช่น หากลูกอยู่ในวัยเด็กเล็ก วัยเตาะแตะ จนถึงก่อนวัยรุ่น ช่วงเวลานี้จะเป็นเวลาทองของการสร้างความสัมพันธ์และความใกล้ชิดกับลูก ดังนั้นการเลือกของขวัญที่เพิ่มเวลาคุณภาพ (quality time) ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูก จึงเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความสุขในปัจจุบัน และความแข็งแรงของจิตใจในระยะยาวของลูกค่ะ

          สมมติว่ามีตัวเลือกไอเดียที่คัดมาแล้วว่าปลอดภัย ลูกน่าจะชอบอยู่ 5 อย่าง คือ

  1. พาไปเรียนการแสดง
  2. เปิดนิทานเสียง แล้วให้ลูกแสดงตามนิทาน
  3. อ่านนิทาน แล้วให้ลูกแสดงตาม
  4. ทำกิจกรรมสวมบทบาท (theater day) เป็นพ่อมด แม่มดตลอดทั้งวัน
  5. พาไปสวนสัตว์แล้วให้ลูกแสดงเป็นผู้ดูแลสัตว์ (zoo keeper) ลองอธิบายสัตว์ชนิดต่าง ๆ

          ไอเดียที่ 2 กับ 3 ใกล้เคียงกัน คือให้ลูกแสดงบทบาทสมมติ ต่างกันตรงที่ไอเดียที่ 2 เปิดนิทานเสียง ส่วนไอเดียที่ 3 เป็นเสียงคุณพ่อคุณแม่อ่านเอง ถ้าเลือกไอเดียที่ 3 จะมีโอกาสที่ได้มีเวลาคุณภาพ (quality time) กับลูกมากกว่า แต่ถ้าหากต้องการเปิดนิทานเสียง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้วิธีลงไปแสดงบทบาทสมมติกับลูกเลยก็ได้ หรือจะทดลองเป็นเบื้องหลังที่คอยทำเสียงประกอบ (sound effect) ช่วยหยิบอุปกรณ์ให้นักแสดง เป็นต้น

  • ขั้นที่ 4
             คุณพ่อคุณแม่ลองคิดแผนในใจว่าพรุ่งนี้หรือสัปดาห์นี้ จะลองเอาไอเดียที่คิดไว้วันนี้ไปทดลองเล่นกับลูกง่าย ๆ ได้ยังไงบ้าง หากทดลองแล้วลูกชอบก็ค่อยลงทุนกับของขวัญมากขึ้น เช่น ซื้ออุปกรณ์ ซื้อหนังสือเสียงเพิ่ม ซื้อเครื่องแต่งตัว มาเสริมให้กิจกรรมแสดงละครของลูกให้มีสีสัน และสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
    .

          ลูก ๆ ไม่ได้ต้องการของแพง ๆ ขอเพียงเป็นสิ่งที่เขาสนใจ สนุก และที่สำคัญได้ใช้เวลาคุณภาพกับคุณพ่อคุณแม่ ไม่ต้องใช้เวลานานก็ได้นะคะ ขอเพียงแค่เน้นไปที่การให้ความสนใจกับเขา เพียงเท่านี้ก็เป็นของขวัญที่ถูกใจ และยังเป็นการลงทุนสร้างจิตใจที่แข็งแรงให้กับลูกในระยะยาวด้วย

 

ใครมีวิธีเลือกของขวัญให้ลูกอย่างไร อย่าลืมเอามาแชร์เพื่อน ๆ กันด้วยนะคะ

เขียนโดย: พญ. ขวัญกมล เดชาติวงค์ ณ อยุธยา

เรียบเรียง: นลินภัสร์ ศูนย์จันทร์

ภาพประกอบ: Pavel Danilyuk

NET PaMa