window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
วิธีเลี้ยงลูกให้มีความมั่นใจในตัวเอง
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ความมั่นใจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสุข สุขภาพ และความสำเร็จในอนาคตของเด็ก เด็กที่มีความมั่นใจจะมีความพร้อมในการรับมือกับแรงกดดันจากเพื่อนฝูง ความรับผิดชอบ ความผิดหวัง ความท้าทาย และอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบได้ดีกว่า ซึ่งความมั่นใจจะรวมไปถึงการเห็นคุณค่าในตนเองที่เป็นเสมือนหนังสือเดินทางของเด็กในการมีสุขภาพจิตและความสุขทางสังคมตลอดชีวิต มันเป็นรากฐานของความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในฐานะผู้ใหญ่ ในทุกช่วงวัย ความรู้สึกที่มีต่อตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการกระทำต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

ความมั่นใจเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ ซึ่งการสร้างความมั่นใจให้กับเด็กไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน และพ่อแม่สามารถทำให้เป็นเรื่องสนุกได้ แล้วจะสร้างให้เกิดขึ้นได้อย่างไร....

1. การแสดงความรัก

ทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักเขาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงความรักและความห่วงใยแม้ว่าลูกจะทำผิดพลาดหรือตัดสินใจไม่ดี และหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงหรือทำให้เขาอับอาย สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมคุณค่าในตนเองแม้ว่าเขาจะรู้สึกไม่ดีกับตัวเองก็ตาม

2. ให้ลูกได้ทำ “งานพิเศษ” ที่เหมาะสมกับวัย

นอกจากงานบ้านและงานในห้องเรียนแล้ว ให้ "งานพิเศษ" แก่ลูก เพื่อช่วยให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ มีความรับผิดชอบ และมีความสามารถ การใช้คำว่า "พิเศษ" จะทำให้เด็กมีความมั่นใจมากขึ้นไปอีก งานพิเศษในบ้าน เช่น การช่วยเลี้ยงสัตว์เลี้ยง การช่วยเลี้ยงน้องตามความเหมาะสม การเป็นผู้ช่วยทำอาหาร เป็นต้น

3. เล่นกับลูก และปล่อยให้ลูกได้เป็นผู้นำ

ในช่วงเวลาเล่น พ่อแม่สามารถให้ลูกเริ่มหรือเลือกกิจกรรมรวมทั้งเป็นผู้นำได้ เมื่อพ่อแม่มีส่วนร่วมและดูเหมือนสนุกกับกิจกรรมที่นำโดยเด็ก เด็กรู้สึกมีค่าและประสบความสำเร็จ

4. สอนให้ลูกรู้จักวิธีการตั้งเป้าหมาย

การกำหนดและการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายให้เป็นจริงได้สามารถช่วยให้เด็กรู้สึกมีความสามารถมากขึ้น และจะช่วยให้เด็ก มีความตั้งมั่นและยึดมั่นในเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งการบรรลุเป้าหมายจะทำให้เด็กรู้สึกเข้มแข็ง  พ่อแม่สามารถทำได้โดยกระตุ้นให้ลูกเขียนสิ่งที่ต้องการทำให้สำเร็จ จากนั้นก็ฝึกให้แบ่งเป้าหมายเป็นเป้าหมายออกเป็นแบบระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ พ่อแม่ควรช่วยตรวจสอบความสนใจของลูกและช่วยให้ลูกเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายตลอดชีวิต

5. ชื่นชมในความพยายาม

สิ่งสำคัญคือต้องให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ภูมิใจในความพยายามของเขาโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ โดยทำให้ลูกรับรู้ว่าในการทำสิ่งต่าง ๆ ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ และผลลัพธ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเสมอไป ต้องทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำ นอกจากนี้ ควรละเว้นจากการชมเชยทั่วไป เช่น “ทำได้ดีมาก!”

6. หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกกับผู้อื่น

การเปรียบเทียบทางสังคมมากเกินไปอาจทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่าได้ โดยการเปรียบเทียบจะทำให้เด็กสงสัยในความสามารถของตัวเอง และคิดว่าตนเองไม่สามารถทำให้พ่อแม่พอใจหรือบรรลุความคาดหวังของพ่อแม่ได้ และสุดท้ายก็จะหมดความมั่นใจ

7. กระตุ้นให้ลูกได้ลองสิ่งใหม่ ๆ

เด็กที่ขาดความมั่นใจมักจะไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ลองให้ลูกได้ทำกิจกรรม และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ สิ่งนี้จะทำให้เด็กมีความมั่นใจว่าเขาสามารถรับมือกับสิ่งที่จะเข้ามาได้

8. ช่วยให้ลูกค้นพบความสนใจและความชอบของตนเอง

การสำรวจความสนใจของตนเองจะช่วยให้เด็กพัฒนาอัตลักษณ์ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างความมั่นใจ โดยพยายามให้ลูกทำกิจกรรมที่หลากหลาย และให้กำลังใจเมื่อลูกพบสิ่งที่เขารักจริง ๆ จะทำให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในความเชี่ยวชาญและมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในด้านอื่น ๆ ของชีวิต

9. ช่วยลูกเอาชนะความกลัวความล้มเหลว

ความกลัวความล้มเหลวมักจะขัดขวางไม่ให้เด็กมีพยายามอย่างเต็มที่และบรรลุศักยภาพสูงสุด ซึ่งอาจทำให้ความมั่นใจลดลงได้ เด็กจึงควรจะได้รับรู้ว่าความผิดพลาดและความไม่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ และความท้าทายหรือความพ่ายแพ้จะสามารถนำเราไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน

12. กระตุ้นให้ลูกแสดงความรู้สึก

เมื่อพ่อแม่มองข้ามความรู้สึกของเด็ก อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าอารมณ์ของเขาไม่สำคัญและสรุปเอาเองว่าเขาไม่สำคัญเช่นกัน พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กแสดงอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ และช่วยให้เขาพูดคุยผ่านอารมณ์เหล่านี้อย่างมีสุขภาพดี

13. การแสดงความเห็นถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้องของลูก

บางครั้งการอารมณ์เสียกับลูกก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และพ่อแม่จะต้องใช้คำวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยแสดงความคิดเห็นถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้อง แทนการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาเป็นใครหรือเป็นอะไร เช่น ให้พูดกับลูกว่า “หนูควรเก็บของเล่นเมื่อไม่เล่นแล้ว” แทนการพูดว่า “ทำไมหนูถึงเป็นคนขี้เกียจ” เป็นต้น โดยพยายามชี้ให้ลูกเห็นถึงสิ่งที่ถูกต้องจริง ๆ และเมื่อลูกประพฤติตัวไม่เหมาะสม ให้เน้นที่พฤติกรรมของปัญหานั้นแทนที่จะสื่อสารว่าเขาไม่ดี

14. เปิดโอกาสให้ลูกได้พบกับคนที่คิดบวกและมีความมั่นใจ

ยิ่งเด็กอยู่ท่ามกลางบุคคลที่มีความมั่นใจและคิดบวกมากเท่าใด เขาก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจและมองโลกในแง่บวกมากขึ้นเท่านั้น พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก และต้องสนับสนุนให้ลูกมีเพื่อนที่มีความมั่นใจและมองโลกในแง่บวกด้วยเช่นกัน

15. ไม่ควรช่วยลูกมากเกินไป หรือปล่อยให้ลูกล้มเหลวบ้าง

เด็กจำเป็นต้องรู้ว่าความล้มเหลวนั้นไม่เป็นอย่างไร และเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเศร้า วิตกกังวล หรือโกรธ เด็กควรได้เรียนรู้ที่จะประสบความสำเร็จด้วยการเอาชนะอุปสรรค ไม่ใช่เป็นเพราะมีพ่อแม่คอยช่วยแก้ปัญหาให้ ความล้มเหลวสามารถกระตุ้นให้เด็กมีความพยายามมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้

16. ฝึกให้ลูกได้ตัดสินใจ

เมื่อลูกมีโอกาสเลือกได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เขาจะมั่นใจในการตัดสินใจของตนเอง พ่อแม่ควรมีทางเลือกต่าง ๆ ให้กับลูกประมาณ 2-3 ทางเลือก เพื่อให้เขาได้เป็นผู้ตัดสินใจเองและทำให้เขารู้ว่าทางเลือกที่พ่อแม่ให้นั้นยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด

17. ส่งเสริมการแก้ปัญหา

พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง มากกว่าคอยแก้ปัญหาให้ โดยเมื่อลูกมีปัญหา ควรถามว่า เขาจะทำอย่างไร และให้เขาได้ลองคิดว่าถ้าเขาเลือกแก้ไขปัญหาแบบนี้ จะทำให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

18. การกอด

การแสดงออกทางกายเป็นการสื่อถึงความรัก การยอมรับ และการเป็นเจ้าของรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กมีความสุขและมีความมั่นใจได้

การให้โอกาสเด็กได้รู้สึกมีความสามารถ มีความมั่นใจ และแสดงออกผ่านคำพูดหรือการกระทำในสิ่งที่สนใจหรือชื่นชอบ จะทำให้เด็กรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง โดยสิ่งเหล่านี้จะสามารถเกิดขึ้นได้หากได้รับการสนับสนุนที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนให้ลองเลือกกลยุทธ์สองสามข้อข้างต้นนี้ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มกลยุทธ์อื่นเข้าไปอีกทีละเล็กละน้อย และคุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่าการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้และไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นอกจากนี้ เมื่อลูกสามารถรับรู้ได้ว่าเขาจะมีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเหลือสนับสนุนเขาอยู่ข้าง ๆ เสมอ ลูกก็จะเติบโตเป็นคนที่มีความมั่นใจ มีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ดีมากยิ่งขึ้น

เขียนและเรียบเรียง นางสาวอรรถยา ยศประสิทธิ์
ภาพถ่ายโดย Ron Lach จาก Pexels

 

Refernces

Alina Tugend. (2015). 9 secrets of confident kids. https://www.parents.com/toddlers-preschoolers/development/fear/secrets-of-confident-kids/

Ashley Cullins. (2021). 25 things you can do right now o build a child’s confidence. https://biglifejournal.com/blogs/blog/child-confidence

Ask Dr. Sears. (2020). 12 ways to raise a confident child. https://www.askdrsears.com/topics/parenting/child-rearing-and-development/12-ways-help-your-child-build-self-confidence/

Child Mind Institute. (n.d.). 12 tips for raising confident kids. https://childmind.org/article/12-tips-raising-confident-kids/

Daniel Wong. (2021). How to Raise a Confident Child: 15 Tips for Parents. https://www.daniel-wong.com/2017/01/09/raise-confident-children

Maegen Storm. (2021). Practical ways to raise confident kids. https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/practical-ways-to-raise-confident-kids

NET PaMa