window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
คำพูดของเรา ทำลายอัตลักษณ์ของลูกอยู่หรือเปล่า ?
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว


“ทำไมทำตัวปกติเหมือนคนอื่นเขาบ้าง”
“แต่งตัวอย่าให้มันประหลาดนักไม่ได้เหรอ”
“ลูกฉันมันชอบอะไรบ้า ๆ บอ ๆ ไม่เหมือนชาวบ้าน”

หลากหลายคำพูดที่พ่อแม่มักจะพูดกับลูกและคนรอบตัวเมื่อพบว่าลูกนั้นมีอัตลักษณ์ หรือสไตล์ความชื่นชอบบางอย่างที่ไม่เหมือนกันคนอื่น (อย่างน้อยก็คนอื่นในความคิดของคนเป็นพ่อแม่) ซึ่งหลายคนอาจพูดมันออกมาด้วยความไม่พอใจ บ้างก็เผลอพูดออกมาด้วยความกังวลหรือรู้สึกเป็นห่วง หรือบางคนก็อาจจะแค่พูดออกมาเฉย ๆ โดยไม่ได้คิดอะไรเลยด้วยซ้ำไป แต่การที่คนพูดจะคิดหรือไม่คิด ไม่ได้แปลว่าคนฟังจะรับรู้และรู้สึกในแบบเดียวกัน เราจึงอยากจะชวนทุกคนมาสำรวจคำพูดเหล่านี้ของพวกเราว่า “เรากำลังเผลอทำลายอัตลักษณ์ของลูกอยู่หรือเปล่า ?”

ก่อนอื่นเราอยากจะพาทุกคนมารู้จักกับคำว่า อัตลักษณ์ ซึ่งประกอบขึ้นจากคำว่า อัต (อัด-ตะ) ซึ่งหมายถึง ตน หรือตัวเอง กับ ลักษณ์ หมายถึง สมบัติเฉพาะตัว คำว่า อัตลักษณ์ จึงมีความหมายว่า ผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ ซึ่งแน่นอนว่าความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคนนั้นย่อมเกิดขึ้นมาจากฐานของอุปนิสัยและรสนิยมส่วนตัวของแต่ละบุคคล แต่อัตลักษณ์อาจแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คืออัตลักษณ์ส่วนบุคคล และอัตลักษณ์ทางสังคม ซึ่งอัตลักษณ์ทางสังคมนี้เองที่เป็นตัวกำหนดความคาดหวังของพ่อแม่ว่าลูกควรจะทำตัวยังไงถึงจะเข้ากับสังคมได้ ถ้าจะให้อธิบายโดยรวบรัดก็คือ สังคมจะมีการแบ่งกลุ่มคนที่มีความคล้ายคลึงกันให้เป็นหมวดหมู่กลุ่มก้อน จากนั้นก็จะมีการระบุอัตลักษณ์และพฤติกรรมของกลุ่มที่พวกเขาเชื่อว่าตนควรปฏิบัติ และเมื่อสังคมได้แบ่งกลุ่มคนเอาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ละกลุ่มก็จะนำกลุ่มของตนไปเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นในแง่ของศักดิ์ศรีและสถานะทางสังคมเพื่อความภาคภูมิใจของกลุ่มตนเอง 

ยกตัวอย่างเช่น หากสังคมได้สร้างกลุ่ม “นักเรียนดีเด่น” หรือ “ลูกที่ดีในอุดมคติ” ขึ้นมา ลักษณะร่วมของคนที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวก็จะกลายเป็นลักษณะพื้นฐานของกลุ่ม (เช่น แต่งตัวเรียบร้อย ไม่ฉูดฉาด เป็นคนสุขุม สุภาพ) เมื่ออัตลักษณ์ของกลุ่มเด็กเหล่านี้ชัดเจนขึ้นมา พ่อแม่ก็จะนำลักษณะของเด็กกลุ่มนี้ไปเปรียบเทียบกับเด็กกลุ่มอื่น ๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับเด็กกลุ่มนี้ และคาเหวังว่าลูกของตนจะปฏิบัติตัวตามเด็ก ๆ กลุ่มนี้เช่นกัน

ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออัตลักษณ์ทางสังคมเป็นตัวผลักดันที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ และการที่เราได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มใหญ่ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมโดยรวมนั้นเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยจากการถูกเลือกปฏิบัติมากกว่า (ในความคิดของหลาย ๆ คน) จึงไม่แปลกที่จะทำให้พ่อแม่เกิดความกังวลเมื่อพบว่าลูก ๆ ของพวกเขานั้นอาจมีพฤติกรรมหรือความชื่นชอบบางอย่างที่แปลกออกไปจากความเชื่อหรือสังคมที่ตัวพ่อแม่คุ้นเคย ยกตัวอย่างเช่น หากวันดีคืนดีลูกกลับบ้านมาแล้วบอกกับพ่อแม่ว่า

“หนู/ผมอยากไปกัดผมแล้วย้อมเป็นสีส้มทั้งหัว”

หรือ

“หนู/ผมคิดว่าจะลองแต่งตัวสไตล์ Punk หรือ Gothic ดู”

แน่นอนว่าหากผู้ปกครองไม่ได้คลุกคลีหรือเปิดกว้างเพียงพอเกี่ยวกับแฟชั่นสไตล์นี้ พ่อแม่ย่อมเกิดความตกใจหรือวิตกกังวล ว่าลูกเราจะไปสมัครงานได้ไหม คนจะมองว่าลูกเราเป็นคนแรง ๆ ไหม ผู้ใหญ่มองมาเขาจะมองลูกเรายังไง ลูกเราจะดูไม่สุภาพหรือเปล่า เวลาไปงานรวมญาติคนอื่นจะพูดถึงลูกเรายังไง ซึ่งบ่อยครั้งที่ความกังวลเหล่านี้อาจจะตกอยู่กับฝั่งพ่อแม่มากกว่าตัวลูกด้วยซ้ำไป ซึ่งเราคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าความกังวลของเรานั้น “เป็นเรื่องธรรมชาติ” แต่เรื่องอัตลักษณ์ของลูกนั้นก็ “เป็นธรรมชาติของเขา” เช่นกัน

พ่อแม่หลายคนเคยให้เหตุผลกับเราว่า

“เวลาที่พูดออกไปว่าลูกนั้น แปลก ประหลาด ไม่เหมือนคนอื่น หรือผิดปกติ ฉันก็ไม่ได้คิดลบอะไรขนาดนั้นนะ ฉันก็แค่พูดออกไปตรง ๆ ตามที่ฉันรู้สึกแค่นั้น ถึงใจจริงจะไม่ได่ชอบ แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร แค่พูดตรง ๆ ว่าไม่ชอบแบบนี้เฉย ๆ”

แน่นอนครับ ความชอบของลูก ๆ นั้นเป็นเรื่องปัจเจก รวมถึงความไม่ชอบของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน อันที่จริงพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องชอบหรือเห็นดีเห็นงามไปกับลูกทุกเรื่องก็ได้ แต่ก่อนที่จะแสดงออกว่าเราชอบหรือไม่ชอบ สิ่งแรกที่เราควรทำก่อนคือการฟัง ฟังมาก ๆ ลองเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของลูก และเรียนรู้ความเป็นตัวเขาดูว่าเขาเป็นยังไง ต้องการอะไร จากนั้นเราจึงจะสามารถพูดคุยกับเขาได้ อะไรที่เรากังวล เราก็แนะนำเขาได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงคำใด ๆ ก็ตามที่จะตีกรอบตัวเขาออกจากสังคม (อย่างเช่นคำตระกูลแปลก พิลึก พิสดาร ฯลฯ ที่เคยกล่าวไปข้างต้น) เราไม่มีทางรู้หรอกว่ากว่าที่ลูกนั้นจะค้นหาและยอมรับในอัตลักษณ์ของตัวเองได้นั้นต้องใช้ความกล้าขนาดไหน ข้างนอกบ้านยังมีคนอีกมากมายที่อาจไม่ยอมรับเขาและทำร้ายเขาอย่างหนักหนาสาหัส การที่เขาเปิดใจที่จะเปิดเผยอัตลักษณ์ที่เขาเป็นกับคนในบ้าน มันคือการแสดงความไว้ใจ และคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุดเขาจะมีคนที่เข้าใจและยอมรับเขา ซึ่งความไว้ใจนี้เองที่เป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

ดังนั้น หากวันนึงลูกของคุณเลือกจะเดินเข้ามาหาคุณแล้วบอกว่าเขาอยากจะเป็นตัวเองในรูปแบบไหน (หรือต่อให้เขาไม่กล้าเดินเข้ามาบอก คุณก็อาจจะลองสังเกตด้วยตัวเอง และซัพพอร์ตเขาอยู่ห่าง ๆ ก็ได้) เราก็อยากจะให้พ่อแม่ลองเปิดใจและเรียนรู้จากตัวเขา เพราะอย่าลืมว่าก่อนที่เราจะมานั่งเรียนรู้ตัวลูกในช่วงเริ่มเป็นวัยรุ่น ครั้งนึงลูก ๆ ก็เคยต้องเรียนรู้และยอมรับความเป็นตัวเราด้วยเช่นกัน อัตลักษณ์ของคนคือความเป็นปัจเจก และความสวยงามของการเป็นมนุษย์คือการที่พวกเราทุกคนนั้นแตกต่าง ซึ่งตัวตนเหล่านั้นจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้ต้องอาศัยความเข้าใจกันในทุก ๆ ระดับความสัมพันธ์ เริ่มจากความสัมพันธ์ในครอบครัว เราอยากให้ทุกครอบครัวสามารถพูดคุยกับลูกตรง ๆ ได้อย่างเปิดใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

เพราะเราเชื่อว่าคนทุกคนจะเบ่งบานได้อย่างงดงามที่สุดในกระถางที่พวกเขาเลือกเอง

เขียนและเรียบเรียง : สิรวิชญ์ ไทยทวีไพศาล
ภาพประกอบ : พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์
NET PaMa