window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
คำพูดชวนทะเลาะกับลูกวัยรุ่น
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

#คำพูดชวนทะเลาะกับลูกวัยรุ่น

 

“คุณหมอคะ ช่วงนี้ทะเลาะกับลูกทุกวันเลยค่ะ พูดอะไรไปลูกก็ไม่ฟัง แถมยังเถียงไม่หยุดอีก ควรทำอย่างไรดีคะ”

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงจะเคยมีคำถามแบบนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกที่ย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว เพราะเป็นช่วงที่มักจะเกิดการทะเลาะกันบ่อยที่สุด 

บทความนี้จึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาเข้าใจถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไขเรื่องนี้กัน

 

คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตดูว่าก่อนที่จะเกิดการทะเลาะกันนั้น ย่อมมีบทสนทนาเกิดขึ้นก่อน ซึ่งคำพูดบางคำนี่เองที่เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการทะเลาะ หากคุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงคำพูดเหล่านี้ได้ ก็อาจจะทำให้บทสนทนานั้นดีขึ้นจนอาจจะไม่เกิดการทะเลาะกันเลยก็ได้ ในวันนี้เน็ตป๊าม้าจึงรวบรวมคำพูดชวนทะเลาะมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านและทำความเข้าใจกันครับ

 

คำพูดแรกสุดและเป็นคำพูดยอดฮิตที่สุดเลยนั่นก็คือ #คำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็นเด็ก 

ในสายตาพ่อแม่ ย่อมเห็นลูกเป็นเด็กอยู่เสมอ แต่เด็กๆเองก็ต้องการความเข้าใจและความเคารพเช่นกัน จึงไม่ควรใช้คำพูดประเภท “ลูกยังเป็นเด็ก จะไปรู้อะไร” หรือ “พ่อแม่อาบน้ำร้อนมาก่อน ลูกต้องเชื่อฟังสิ” คำพูดเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สีกถูกกดทับ ด้อยค่า และรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความคิดความรู้สึกของเขา เพราะถูกลดทอนด้วยความเป็นเด็ก

 #คำพูดที่ท้าวความเรื่องราวในอดีต หลายครั้งที่ทะเลาะกัน คุณพ่อคุณแม่อาจจะเผลอหยิบเรื่องในอดีตกลับมาพูดซ้ำ โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่อประเด็นที่ทะเลาะกันนั้นมีความคล้ายกับประเด็นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร เมื่อถูกยกความผิดในอดีตมาพูดซ้ำย่อมรู้สึกไม่ดี และทำให้ความขัดแย้งหลุดออกนอกประเด็นจนอาจลุกลามรุนแรงขึ้น

#คำพูดทวงบุญคุณลูก ถ้าเมื่อใดที่การพูดคุยลุกลามไปเป็นการทะเลาะกัน พ่อแม่ไม่ควรใช้คำพูดทำนองว่า “แม่เลี้ยงหนูมาขนาดนี้ ทำไมไม่เชื่อฟัง” เพราะนี่เป็นการพูดด้วยอารมณ์ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่พูดคุย ลูกจะรู้สึกต่อต้านมากขึ้น


#คำพูดเปรียบเทียบ คุณพ่อคุณแม่อาจจะเผลอเปรียบเทียบลูกของตนกับลูกของคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องการเรียน หรือเรื่องของลักษณะนิสัย แต่เด็กทุกคนล้วนมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นนิสัยหรือความสามารถในแต่ละด้าน ดังนั้นการเปรียบเทียบนี้ นอกจากจะทำให้การทะเลาะกันบานปลายแล้ว ยังเป็นการลดทอนความภาคภูมิใจของลูกอีกด้วย


#คำพูดที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รับฟัง หรือก็คือการพูดสวนกลับไปโดยที่ไม่ฟังในสิ่งที่ลูกพูดเลยนั่นเอง หลายครั้งที่ทะเลาะกัน ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง เมื่อได้ยินในสิ่งที่ไม่เข้าหูหรือไม่ตรงกับความคิดของตน ก็มักเลือกที่จะพูดความคิดของตนออกไปเลย โดยที่ไม่ฟังให้ดีหรือฟังให้จบก่อน เมื่อลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่นั้นไม่รับฟังเขา ก็ย่อมทำให้เขาไม่อยากที่จะฟังคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน

 

หลังจากได้รู้จักกับคำพูดที่ชวนให้ทะเลาะกับลูกซึ่งควรหลีกเลี่ยงแล้ว เน็ตป๊าม้ายังมีแนวทางดีๆ มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลองนำไปปรับใช้ในการพูดคุยกับลูกอีกด้วยครับ

 

#ฟังอย่างใส่ใจ ลูกทุกคนล้วนอยากให้พ่อแม่รับฟังในสิ่งที่เขาพูด เมื่อลูกรับรู้ได้ว่าคุณพ่อคุณแม่รับฟังและให้ความสนใจในสิ่งที่เขาพูด ย่อมทำให้ลูกก็พร้อมที่จะรับฟังคุณพ่อคุณแม่ด้วยเช่นกัน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้เทคนิคการรับฟังอย่างใส่ใจ ได้จากบทเรียนที่ 2 ของ คอร์สออนไลน์ “เน็ตป๊าม้า (NetPAMA)”

 

#เคารพในความคิดที่แตกต่าง หลายครั้งการทะเลาะกันนั้นมักจะมาจากความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็มักจะพยายามเปลี่ยนให้ลูกมีความคิดเหมือนกับตน โดยอาจจะลืมไปว่าลูกเองก็มีความคิดและความรู้สึกเป็นของตัวเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรที่จะเคารพในความคิดของลูกด้วย หากความคิดเหล่านั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงจนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

 

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนนั้นล้วนรักและเป็นห่วงลูกของตน ไม่อยากให้ลูกต้องเจอกับประสบการณ์ที่ไม่ดี แต่ในบางครั้งอาจจะใช้วิธีในการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ลูกไม่เข้าใจเจตนาและความรู้สึกที่แท้จริงของคุณพ่อคุณแม่ จนนำไปสู่การทะเลาะกันในที่สุด และถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเคยใช้คำพูดชวนทะเลาะเหล่านี้กับลูกไปแล้ว ซึ่งมันก็เป็นเรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ แต่อยากให้คุณพ่อคุณแม่นั้นคิดว่าเรายังสามารถที่จะเริ่มต้นใหม่ได้เสมอครับ

 

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจว่า เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ลูกจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง และต้องการการยอมรับจากคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนหรือคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัว ซึ่งในช่วงวัยนี้ หากลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่รับฟังหรือไม่ยอมรับในตัวเขา ย่อมทำให้ลูกรู้สึกไม่พอใจซึ่งอาจจะนำไปสู่การทะเลาะกันได้ในที่สุด ดังนั้นการเคารพซึ่งกันและกันรวมไปถึงการสื่อสารที่ดี ย่อมทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ

 


บทความนี้เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 
เจ้าของเพจ “สมาธิสั้นแล้วไง”
.

เขียนและเรียบเรียงโดย ปัณณวัฒน์ ราษฎร์อารี
ภาพประกอบโดย พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์

 

 

NET PaMa