window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ลูกไม่ยอมเล่าให้ฟัง ทำยังไงดี
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

“ลูกไม่ยอมเล่าให้ฟัง ทำยังไงดี”


เมื่อลูกเริ่มเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น ระยะห่างระหว่างพ่อแม่ลูกก็คล้ายจะกว้างขึ้น พ่อแม่หลายบ้านอาจรู้สึกเหมือนลูกเก็บเรื่องราวต่างๆ ไว้กับตัวมากขึ้น ไม่ค่อยเปิดใจเล่าให้พ่อแม่ฟังเหมือนแต่ก่อน


ปัญหานี้คงเป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายครอบครัวกังวล แต่ที่จริง ระยะห่างที่เพิ่มขึ้นเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะเด็กวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่กำลังค้นหาตนเองและก้าวเข้าสู่โลกที่กว้างขึ้นจากที่เคยมี ปัจจัยจากภายนอกเริ่มมีอิทธิพลกับความคิดอ่านมากขึ้น ทำให้มีความคิดเป็นของตนเองและเป็นเอกเทศจากพ่อแม่


อย่างไรก็ตาม การได้พูดคุยเปิดใจระหว่างพ่อแม่ลูกก็เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะรักษาสัมพันธภาพภายในครอบครัวเอาไว้ ดังนั้น วันนี้เราจึงจะมาพูดคุยกันในหัวข้อ ‘ทำอย่างไร จึงจะเป็นพ่อแม่ที่ลูกเปิดใจด้วย’ กันค่ะ


1. สร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว

สัมพันธภาพภายในครอบครัวคือพื้นฐานของทุกสิ่ง 

ในครอบครัวที่มีสัมพันธภาพที่ดี การเปิดใจพูดคุยกันย่อมทำได้ง่ายและเป็นธรรมชาติ ซึ่งสัมพันธภาพนี้เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาปลูกฝังมาตั้งแต่ลูกยังเล็ก เมื่อมีสัมพันธภาพที่แข็งแกร่ง ลูกจะรับรู้ว่าพ่อแม่รักและมีความไว้ใจที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง



2. คุยกับลูกเมื่อพร้อม 

พร้อม คือพร้อมทั้งอารมณ์และสติ พร้อมทั้งพ่อแม่และลูก

ก่อนจะพูดคุยกับลูก พ่อแม่ควรเตรียมตนเองให้พร้อม ให้อารมณ์คงที่และมีสติ รวมทั้งเตรียมตัวควบคุมอารมณ์ตนเองระหว่างการพูดคุยด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูว่าลูกอยู่ในสภาพที่ลูกพร้อมจะพูดคุยหรือไม่ การที่เด็กไม่ยอมเปิดใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับพ่อแม่ มีเหตุได้จากหลายปัจจัย อาจเริ่มจากปัจจัยที่ตัวเด็กเอง ซึ่งยังไม่พร้อมที่จะพูดถึงเรื่องนี้ และยังไม่ต้องการให้เรื่องนี้เข้ามาเปลียนแปลงความสัมพันธ์ภายในบ้าน 

หากลูกแสดงออกว่ายังไม่พร้อม ก็ไม่ควรฝืนพูดคุย เพราะจะกลายเป็นการบังคับ และลูกจะยิ่งปิดกั้นตนเอง การจะเปิดใจพูดคุยกันอีกจะกลายเป็นเรื่องยากค่ะ


3. รับฟังด้วยหัวใจ

เมื่อมีโอกาสให้ลูกได้เล่าสิ่งที่อยากเล่า พ่อแม่ก็ควรตั้งใจฟังโดยไม่ขัดระหว่างที่ลูกเล่า 

รับฟังอย่างตั้งใจ แม้ว่าสิ่งที่ลูกพูดจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในมุมของพ่อแม่ แต่อย่าลืมว่ามันสำคัญกับลูก ดังนั้นจึงควรรับฟังสิ่งที่ลูกเล่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน เมื่อรับฟัง ลูกจะรู้สึกว่าสามารถเล่าสิ่งต่างๆ ให้พ่อแม่ฟังได้ และจะค่อยๆเปิดใจให้นั่นเอง

แต่หากพ่อแม่ไม่รับฟังแม้ในเรื่องเล็กน้อย ลูกก็จะไปหาผู้อื่นที่จะฟังเขา เช่น เพื่อน และเมื่อมีเรื่องสำคัญ ลูกก็อาจไม่มาเล่าให้พ่อแม่ฟังอีกต่อไป


4. ไม่รีบตัดสิน

หนึ่งในความกลัวที่ทำให้ลูกไม่กล้าเปิดใจกับพ่อแม่ ก็คือการถูกตัดสินหรือดุด่าว่ากล่าว 

จริงอยู่ ที่หลายครั้งพ่อแม่อยากสอนเมื่อลูกทำสิ่งใดที่ตนเห็นว่าผิด แต่การรีบตัดสินถูกผิดหรือวิจารณ์ จะทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดและกลัวที่จะเล่าถึงปัญหาให้พ่อแม่ฟัง เพราะกังวลว่าจะถูกตัดสินหรือถูกดุ

ดังนั้น จึงควรรับฟังเรื่องราวของลูกให้จบก่อนโดยไม่ด่วนตัดสิน แสดงออกว่าเข้าอกเข้าใจในมุมมองของลูก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจที่จะเปิดใจเล่าปัญหาให้พ่อแม่ฟัง จากนั้นจึงค่อยหาจังหวะที่ดีในการสอดแทรกคำสอนและคำแนะนำ


    บางครั้งการเปิดใจกับลูกอาจดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่หากมีการสื่อสารและสัมพันธภาพที่ดี ลูกก็อาจเปิดใจพูดคุยได้ง่ายขึ้น ซึ่งทักษะการสื่อสารนั้นเป็นสิ่งที่พ่อแม่สามารถฝึกฝนได้ (ทั้งนี้ ทางเน็ตป๊าม้าก็มีบทเรียนเกี่ยวกับทักษะการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่รู้วิธีการสื่อสารกับลูกๆได้อย่างเหมาะสม หากพ่อแม่ท่านใดสนใจ สามารถลงทะเบียนเรียนได้ที่ netpama.com )


สิ่งสำคัญที่สุดคือการแสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักและเป็นห่วง พร้อมสนับสนุน และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็พร้อมจะโอบกอดลูกเสมอ


เขียนและเรียบเรียง รินรดา คงพิบูลย์กิจ

ภาพถ่ายโดย Ketut Subiyanto จาก Pexels

NET PaMa