window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
สอนลูก(ทำการบ้าน)อย่างไรดี (ตอนที่ 2)
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

✅ เทคนิคคนละครึ่ง(ทาง) คือ เทคนิคการพูดคุยตกลงและแลกเปลี่ยนกันในครอบครัวเกี่ยวกับการบ้าน เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ รับผิดชอบงานด้วยตนเองได้ดีขึ้น แถมยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เบาแรงในการสอนทำการบ้านค่ะ เทคนิคนี้ทำได้โดยการพูดคุยกับเด็ก ๆ ในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ว่า “มีการบ้านอะไรบ้าง” “แต่ละงานมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน” และที่สำคัญ คือ “งานแต่ละชิ้นต้องส่งเมื่อไหร่”

⭐️ คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้การพูดคุยนี้เป็นโอกาสในการสอน ‘การจัดลำดับความสำคัญ’ และ ‘การบริหารจัดการเวลา’ ให้กับเด็ก ๆ 
❗️ในการพูดคุยคุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยแลกเปลี่ยนและถามความคิดเห็นของลูกถึงลำดับความสำคัญของงานแต่ละชิ้น เพราะว่างานบางชิ้นอาจไม่จำเป็นเร่งด่วน แต่อาจมีความสำคัญต่อจิตใจของเด็ก ๆ ก็เป็นได้ค่ะ 

เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันแล้ว ก็ได้เวลาแบ่งกันคนละครึ่ง(ทาง)แล้วค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถตั้งคำถามกับเด็ก ๆ ดังนี้ค่ะ
❓งานไหนบ้างนะที่หนูอยากให้พ่อ/แม่ช่วย
❓งานไหนบ้างนะที่หนูกังวลมากเป็นพิเศษ … หนูอยากจะทำด้วยตัวเองก่อนหรืออยากให้พ่อ/แม่ช่วยดี
❓งานไหนบ้างนะที่หนูคิดว่าหนูทำได้เองบ้าง
หลังจากนั้นก็เริ่มตกลงกันว่างานไหนบ้างที่ผู้ปกครองจะคอยช่วยหรืองานไหนบ้างที่เด็ก ๆ สามารถทำได้ด้วยตนเอง และจะทำเมื่อไหร่ โดยตกลงกันคนละครึ่ง(ทาง)ค่ะ

⭐️ ในช่วงแรกที่เด็ก ๆ เริ่มทำการบ้านด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องคอยนั่งอยู่ใกล้ ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ เกิดความมั่นใจว่าจะมีพ่อแม่คอยให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างเสมอเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือค่ะ

เทคนิคนี้เหมาะสำหรับเด็กระดับชั้นประถมศึกษาขึ้นไป โดยสามารถแบ่งระดับความช่วยเหลือได้ ดังนี้
1. ประถมต้น (ผู้ปกครองช่วยมาก เด็กทำเองน้อย)
2. ประถมปลาย (คนละครึ่ง)
3. มัธยมศึกษา (ผู้ปกครองช่วยน้อย เด็กทำเองมาก)
หรือปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัวค่ะ เมื่อเด็ก ๆ สามารถรับผิดชอบเองได้มากขึ้น อย่าลืมลดการช่วยเหลือและเพิ่มการเสริมแรงบวกนะคะ

⭐️ เทคนิคคนละครึ่ง(ทาง) นอกจากจะสร้างความสัมพันธ์และเวลาคุณภาพที่ดีระหว่างกันแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ สามารถทำการบ้านด้วยตนเองได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ

นำเทคนิคนี้ไปใช้เป็นอย่างไร อย่าลืมมา comment แลกเปลี่ยนกันนะคะ … แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปค่ะ ❤️

เขียนโดย จิราภา เดือนเพ็ญศรี
ภาพถ่ายโดย Annushka Ahuja จาก Pexels



 

NET PaMa