window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ถอดบทเรียน การเลียนแบบในโลกออนไลน์
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

“ช่วงนี้ลูกก้าวร้าวขึ้น ชอบพูดคำหยาบตามพวกคลิปใน Tiktok”

   

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงหนักใจไม่น้อย เมื่อพบว่าลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป บ้างก็พูดคำหยาบคายที่พ่อแม่ไม่เคยสอน บ้างก็ทำท่าทางไม่เหมาะสม เช่น การชูนิ้วกลาง เขียนข้อความไม่ดีๆ หรือมีท่าทีก้าวร้าวรุนแรง โดยที่พ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าลูกไปเอาตัวอย่างการกระทำพวกนี้มาจากไหน

สืบไปสืบมา จึงรู้ว่าลูกไปเลียนแบบมาจากใน Social media ไม่ว่าจะคลิปใน Tiktok หรือ Youtube โดยที่บางครั้งตัวเด็กเองก็ไม่ได้รู้ความหมายของสิ่งที่ตนทำหรือพูดออกมา


ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับปัญหาพฤติกรรมการเลียนแบบในโลกออนไลน์ของเด็กๆ และวิธีที่พ่อแม่จะป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้กันค่ะ


พฤติกรรมการเลียนแบบเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเลียนแบบจึงเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญต่อพัฒนาการและการเติบโตของเด็กๆ เด็กเรียนรู้ผ่านการสังเกตการกระทำของคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คุณครู เพื่อนๆ หรือสื่อต่างๆ ที่เด็กเข้าถึงได้

แต่การได้เห็นพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว ไม่ได้แปลว่าเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมนั้นๆ เสมอไป แต่เด็กจะเรียนรู้ด้วยว่าผลของการกระทำนั้นเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเด็กได้ยินคำสบถหยาบคาย เด็กๆจะไม่ได้พูดตามทันที แต่เมื่อเห็นว่าการพูดแบบนั้นได้รับคำชม ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น เด็กๆ จึงเรียนรู้ว่านี่เป็นการกระทำที่จะได้รับรางวัล และทำตาม

นั่นคือ ปัจจัยที่มีผลต่อการเลียนแบบของเด็ก ประกอบด้วย 1.) การเห็นตัวอย่างพฤติกรรมนั้น และ 2.) การเรียนรู้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะได้รับผลตอบรับที่ดีนั่นเองค่ะ 


ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Social media มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กๆ มาก ยิ่งในปัจจุบันที่การเผยแพร่สื่อ ทุกคนสามารถทำได้โดยไม่ได้ต้องมีการคัดกรองอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกัน เด็กๆก็มีเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่ายและรวดเร็ว เมื่อเด็กเรียนรู้พฤติกรรมจากคลิปหรือสื่อที่แพร่หลายใน Social media และพบว่าการกระทำนั้นได้รับการยอมรับในวงสังคมของสื่อที่เขาเสพ จึงนำมาซึ่งปัญหาการเลียนแบบพฤติกรรมของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือสื่อที่แพร่หลายในโลกออนไลน์นั่นเองค่ะ


ปัจจุบัน เราจะเห็นปัญหาพฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อออนไลน์ของเด็กๆ ได้มากมาย ตั้งแต่การพูดคำหยาบคาย การใช้วลีเด็ดๆ ที่มีความหมายไม่เหมาะสมโดยที่เด็กก็ไม่รู้ความหมาย การแสดงท่าทางไม่ดี เช่น ชูนิ้วกลาง การสูบบุหรี่ /เสพสิ่งเสพติด การทำลายข้าวของ ไปจนถึงปัญหารุนแรงอย่างการทำร้ายตนเองและคนรอบตัว จากการเสพสื่อที่มีความรุนแรง


แล้วคุณพ่อคุณแม่สอนลูกอย่างไร ไม่ให้เลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีในโลกออนไลน์ ?


#เข้าใจสิ่งแวดล้อมของลูก

เช่นเดียวกับการสอนลูกในเรื่องอื่นๆ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือพ่อแม่ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมที่ลูกอยู่ ต้องรู้ว่าลูกเสพสื่อแบบไหน สื่อนั้นมีเนื้อหาอย่างไร ไปจนถึงคนรอบตัวที่ใกล้ชิดกับลูก เช่น เพื่อนๆ ว่ามีพฤติกรรมแบบไหน เสพสื่อแบบไหนกัน 

เมื่อเข้าใจแล้ว พ่อแม่จึงจะสามารถส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี และให้คำแนะนำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ แต่หากพ่อแม่ไม่เข้าใจสื่อที่ลูกเสพ และเริ่มด้วยการห้าม เด็กจะเกิดการต่อต้านและยิ่งไม่เชื่อฟัง


#ส่งเสริมปัจจัยบวก

อย่างที่กล่าวไปแล้ว การเรียนรู้ของเด็กประกอบด้วยการเห็นพฤติกรรมหนึ่งและรู้ว่าพฤติกรรมนั้นๆ เป็นสิ่งที่ดี ทำแล้วได้รางวัล 

รางวัลหรือคำชมเชยเป็นเทคนิคเชิงบวกที่ได้ผลมากในการปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้กับเด็ก คุณพ่อคุณแม่อาจชี้ให้ลูกเห็นถึงพฤติกรรมที่ดีที่เห็นตัวอย่างจากคนอื่น และเมื่อเด็กๆ ทำตาม ก็ให้รางวัลหรือคำชมเชย รางวัลที่เหมาะสมจะสร้างแรงจูงใจให้เด็กเรียนรู้ว่าพฤติกรรมนั้นดีและทำต่อไปนั่นเองค่ะ

#กำจัดปัจจัยลบ

ปัจจัยด้านลบมีได้ตั้งแต่สื่อที่มีความรุนแรงเช่นเกมหรือภาพยนตร์, คลิปวิดีโอในอินเทอร์เน็ตที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เช่น มีคำหยาบคาย มีเนื้อหาเรื่องเพศ ไปจนถึงปัจจัยในชีวิตจริง เช่นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของคนรอบตัวเด็กๆ เมื่อเด็กๆ เห็นพฤติกรรมเหล่านี้ ก็อาจนำไปสู่การเลียนแบบได้ 

จึงเป็นหน้าที่หนึ่งของคุณพ่อคุณแม่ที่จะกำจัดตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่ดีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 


    #ทำแบบนี้ไม่ดี

    ในความเป็นจริง แม้ว่าพ่อแม่จะพยายามกำจัดตัวอย่างที่ไม่ดีแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าอาจเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงได้หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อในโลกออนไลน์ที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย 

แต่เมื่อไรที่เกิดสถานการณ์ที่ลูกๆ ได้เห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างเลี่ยงไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจถือเป็นโอกาสที่จะได้สอนลูก เป็นโอกาสที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมพฤติกรรมนี้จึงไม่ดี ไม่ควรทำตาม

    เช่น ถ้าเด็กพูดคำหยาบตามคลิปในโลกออนไลน์ ก็อาจเริ่มจากการถามว่าทำไมจึงพูดคำนี้ และลูกรู้ไหมว่าที่พูดหมายความว่าอย่างไร บ่อยครั้ง ที่เด็กๆ จะทำตามไปโดยไม่รู้ความหมายจริงๆ เพียงแค่คิดว่าทำแล้วดี เท่ คนยอมรับ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจ ว่าคำพูดนี้หมายความว่ายังไง ไม่ดีอย่างไร และทำไมจึงไม่ควรทำตาม

   

    #ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน

    ไม่ใช่การสอนใดที่จะได้ผลไปกว่าการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และไม่มีตัวอย่างใดที่จะส่งผลกระทบกับเด็กได้ไปกว่าพ่อแม่ของตนเอง ลูกๆ จะสังเกตและซึมซับพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ทุกวัน ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ พ่อแม่เองจึงต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเช่นกัน

ในทางตรงข้าม หากพ่อแม่สอนลูกอย่างหนึ่ง แต่ตนเองกลับทำพฤติกรรมนั้นเอง เช่น ห้ามลูกพูดคำหยาบคาย แต่พ่อแม่กลับพูดเสียเอง หรือพ่อแม่สอนลูกว่าการขว้างปาข้าวของนั้นไม่ดี แต่เมื่อตนเองโกรธ กลับเป็นคนที่ทำลายข้าวของเอง การกระทำที่ขัดแย้งกับคำสอนจะทำให้เด็กเกิดความสับสน ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่เด็กไม่เชื่อถือคำพูดพ่อแม่อีก หรือกระทั่งเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้นนั่นเองค่ะ

   

การเลียนแบบของเด็กๆ เป็นกระบวนการสำคัญในการเรียนรู้และเติบโต สิ่งแวดล้อมรอบตัวจึงมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเด็กทั้งในปัจจุบันและเมื่อเขาเติบโตไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สื่อต่างๆ เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว สื่อที่ไม่เหมาะสมก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากการเติบโตของ Social media เด็กๆ จึงเสี่ยงต่อการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมาก ต่อการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กๆ ในโลกออนไลน์ โดยหลักสำคัญคือความเข้าใจและการสื่อสารพูดคุยนั่นเองค่ะ



เขียนและเรียบเรียง รินรดา คงพิบูลย์กิจ

ภาพประกอบ พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์

NET PaMa