window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
เพราะลูกไม่เข้าเรียน เลยต้องลงโทษ
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
ปัญหาการไม่ยอมเข้าเรียน ขาดแรงจูงใจในการเรียน เป็นปัญหาคลาสสิคที่เจอได้บ่อยในเด็กๆทุกยุคทุกสมัย อาจมีบางบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เช่น ในช่วงนี้ที่เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ ปัญหาไม่เข้าเรียน ขาดแรงจูงใจในการเรียนก็ยังมีอยู่ ซ้ำยังจะมากขึ้นกว่าตอนไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติอีกด้วย จนพ่อแม่ไม่รู้จะจัดการกับพฤติกรรมนี้อย่างไร
.
พ่อแม่บางท่านอาจเข้าใจว่าวิธีการจัดการเมื่อลูกไม่เรียน คือการลงโทษ แต่นี่เป็นหนึ่งในความเข้าใจที่ผิดค่ะ รู้ไหมคะ ว่าการจับคู่การเรียนกับเทคนิคเชิงลบอย่างการลงโทษ กลับจะยิ่งส่งผลเสียต่อเด็กมากกว่าผลดี โดยเฉพาะการลงโทษแบบรุนแรงไม่ว่าจะทางคำพูดหรือทางการกระทำ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ มีทัศนคติแง่ลบต่อการเรียน เพราะเชื่อว่าการเรียนเป็นศัตรูที่ทำให้พ่อแม่ลงโทษเขา ทำให้พ่อแม่โกรธ ต่อว่า และผิดหวังในตัวเขา เด็กจะยิ่งเกลียดการเรียน และทำให้ปัญหาไม่ยอมเข้าเรียนยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้นไปอีกค่ะ
.
แล้วถ้าลูกขาดเรียนบ่อยๆ พ่อแม่ควรจัดการอย่างไรดี
.
ทำไมถึงไม่เข้าเรียน
อันดับแรก คือการหาสาเหตุของการขาดเรียนและทำความเข้าใจค่ะ
พฤติกรรมการขาดเรียนเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ข้างใต้ภูเขาที่ซ่อนอยู่ คือสาเหตุเบื้องหลังการขาดเรียน ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน
เช่น เด็กปกติที่เบื่อหน่ายการเรียน อาจเกิดจากความสามารถของเด็กที่เรียนไม่ทันเพื่อน การถูกตำหนิหรือนำไปเปรียบเทียบกับเพื่อนบ่อยๆ จนเด็กไม่อยากเรียน
.
หรือเด็กบางกลุ่มอาจมีโรคทางจิตเวชที่มีผลต่อการเรียนรู้ เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (SLD) เมื่อต้องไปเรียนรวมกับกลุ่มเด็กปกติ ก็เรียนไม่ทัน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่ถูกลงโทษจากปัญหาการเรียนได้บ่อย จนส่งผลให้เด็กรู้สึกเสียคุณค่าในตนเอง (self-esteem) และยิ่งต่อต้านการเรียนยิ่งขึ้นอีก
.
เมื่อทราบสาเหตุแล้ว ปัญหาแต่ละอย่างจะต้องมีการแก้ไขที่จำเพาะให้ตรงจุด โดยเฉพาะหากสาเหตุเกิดจากโรคทางจิตเวช ควรพาลูกไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นค่ะ
.
เรียนจบแล้วจะได้รางวัลนะ
รางวัล คำชมเชย หรือแรงจูงใจ เป็นการนำวิธีจากเทคนิคเชิงบวกมาสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้กับเด็ก เมื่อทำได้ตามข้อตกลงก็จะได้รางวัล (Reward) หรือหากทำได้ดีก็จะได้รับคำชมเชย
.
แล้วรางวัลที่ดีควรเป็นอย่างไร
คำตอบนี้ไม่มีตายตัว โดยทั่วไป รางวัลสร้างขึ้นมาจากแรงจูงใจ มันจึงเป็นสิ่งที่เฉพาะตน รางวัลควรเป็นของที่ทำให้เด็กมีความสุข สนุก พอใจ เลือกได้เอง เเละอยู่ในขอบข่ายของการเกิดขึ้นจริงได้ รางวัลที่เหมาะสมจะเสริมสร้างแรงจูงใจจากภายในตัวเด็กให้เพิ่มขึ้น ซึ่งแรงจูงใจนี้เอง แม้จะเริ่มขึ้นอย่างเล็กน้อย แต่ก็ที่เป็นสิ่งสำคัญแรกสุดที่จะกระตุ้นให้เด็กหันไปสนใจการเรียนได้ค่ะ
.
แต่ถ้ายังไม่เรียนอีกก็จะมีบทลงโทษแล้วนะ
แม้จะพูดถึงในตอนต้นบทความว่าการเรียนและการลงโทษไม่ควรจับมาอยู่คู่กัน เพราะมันจะทำให้เกิดผลเสียอย่างรุนแรงต่อตัวเด็กได้ และทำให้เด็กเกลียดการเรียนไปเลย
.
แต่ที่จริง เทคนิคการลงโทษสามารถนำมาใช้ได้บ้าง โดยควรเป็นตัวเลือกการปรับพฤติกรรมอันดับท้ายๆ ที่จะดึงมาใช้ อีกทั้งยังต้องทำด้วยความระมัดระวัง มีระดับการลงโทษที่เหมาะสม มีจุดประสงค์เพียงเพื่อนฝึกวินัยเด็กเท่านั้น แต่จะไม่ใช้บทลงโทษรุนแรงจนเด็กเกลียดการเรียน สิ่งสำคัญสองประเด็นในการลงโทษ คือ การทำข้อตกลง และการอธิบายให้เด็กเข้าใจเมื่อถูกลงโทษ
.
ทำข้อตกลง เช่น “ถ้าหนูไม่เข้าเรียนเกิน 4 ครั้ง หนูจะถูกลงโทษ” เป็นการเตือนเด็กถึงพฤติกรรมที่เด็กไม่ควรทำ
เมื่อเด็กถูกลงโทษ ก็ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจ ว่าทำไมถึงถูกลงโทษในครั้งนี้
.
อาจเริ่มจากการถามลูกว่า คิดว่าที่ต้องถูกลงโทษวันนี้เพราะอะไร เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดในมุมมองของตนเอง อธิบายเหตุผลในมุมมองของพ่อแม่
ย้ำเตือนลูกถึงข้อตกลง “เราตกลงกันไว้ว่าถ้าขาดเรียนเกิน 4 ครั้งจะถูกลงโทษ หนูจำได้ไหม”
.
การลงโทษเด็กเป็นเทคนิคเชิงลบ การนำมาปรับใช้จึงควรปรับใช้อย่างระมัดระวัง การลงโทษควรเป็นสิ่งที่หนักมากพอที่จะให้การลงโทษของเราสัมฤทธิ์ผล แต่ก็ไม่ควรหนักเกินไปจนทำร้ายเด็กจนเกิดบาดแผล ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ
.
คุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่กำลังประสบปัญหาลูกขาดแรงจูงใจในการเรียน สามารถเข้ามาเรียนรู้วิธีจัดการพฤติกรรมลูกเบื้องต้นได้จากกรณีศึกษาของครอบครัวลิซ่า ในคอรส์เร่งรัด Net-PAMA และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้รางวัลและการลงโทษได้ที่คอร์สจัดเต็ม
.
เรียบเรียงโดย นศพ.รินรดา คงพิบูลย์กิจ
ตรวจทานโดย ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
ภาพถ่ายโดย Monstera จาก Pexels

NET PaMa