window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ร่างกายของหนู
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

‘การล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก’ เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมมานาน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นข่าวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กอย่างต่อเนื่อง และยิ่งน่าเศร้า เมื่อพบว่าผู้ที่ล่วงละเมิดเด็กส่วนใหญ่คือคนใกล้ชิด หรือกระทั่งคนในครอบครัวนั่นเอง เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย การติดอาวุธให้เด็กๆรู้จักการป้องกันดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ

“การล่วงละเมิดทางในเด็กคืออะไร และการกระทำแบบไหนบ้างที่ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก ?”

การล่วงละเมิดทางเพศ คือการกระทำทางเพศที่ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือเกิดความรู้สึกว่าอาจนำไปสู่อันตรายทางเพศได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงการล่วงละเมิดทางร่างกาย เช่น การสัมผัส การจับต้องอวัยวะส่วนตัวหรือการข่มขืน หากยังครอบคลุมถึงการล่วงละเมิดแบบไม่มีการสัมผัส เช่น การพูดถึงในแง่ทางเพศ การถ้ำมอง การแอบถ่าย การบังคับให้เปิดเผยอวัยวะส่วนตัว การบังคับให้เด็กดูภาพหรือวิดีโอทางเพศ เป็นต้น

จะเห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก หลายครั้งเด็กๆโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ จึงยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองเป็นการถูกล่วงละเมิด หรือแม้จะรู้สึกไม่สบายใจก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ ทำให้เด็กๆยิ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด

“แต่ผู้ใหญ่บางคนอาจอ้างว่าที่ทำก็เพราะรักเพราะเอ็นดู แล้วแบบนี้ขอบเขตของการแสดงความรักความเอ็นดูควรอยู่ที่ตรงไหน ?”

แม้จะเป็นเรื่องปกติที่เมื่อผู้ใหญ่เห็นเด็กน่ารักๆ ก็อยากเข้าไปหอมเข้าไปกอด แต่การสัมผัสตัวเด็กก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย แม้ว่าจะเป็นลูกหลานของตนเอง แต่การจับ ลูบคลำ หรือสัมผัสอวัยวะในที่ลับก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโต

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ความเหมาะสมและเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนมักมองข้ามไป คือ ‘ความยินยอม’ เด็กๆเองก็มีสิทธิ์ในร่างกายตอนเองไม่น้อยไปกว่าผู้ใหญ่ การจะกอดหรือสัมผัสร่างกายเด็ก จึงควรถามก่อนว่าเด็กยินยอมหรือไม่ และหากเด็กมีท่าทีอึดอัดไม่สบายใจก็ควรหยุดเพียงเท่านั้น

“บาดแผลทางใจจากการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กมีอะไรได้บ้าง ?”

ผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศของเด็กมีได้หลายแง่ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ พัฒนาการ และพฤติกรรม

บาดแผลทางจิตใจเป็นสิ่งซึ่งมองไม่เห็นด้วยตา แต่จะฝังลึกอยู่ในตัวตราบจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และมีผลต่อเนื่องไปจนถึงการแสดงพฤติกรรม ตลอดจนมุมมองต่อตนเองและต่อโลกใบนี้

มีการศึกษาผลกระทบทางจิตใจของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดมาอย่างยาวนาน ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 4 ด้านหลักๆ ได้แก่
  1. ความรู้สึกว่าถูกทรยศ (A sense of betrayal) โดยเฉพาะหากถูกล่วงละเมิดโดยคนใกล้ตัว
  2. รู้สึกไร้ค่า ไม่มีพลังขัดขืน (A sense of powerlessness) ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมชีวิตตนเองได้
  3. รู้สึกว่าตนเองมีตราบาป (Stigmatization) จนนำไปสู่ความรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตนเอง หรือภาวะทางจิตเวชเช่นโรควิตกกังวลหลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง (Posttraumatic stress disorder)
  4. มีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ (Traumatic sexualization)

เด็กที่มีบาดแผลย่อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แตกสลาย โดยเฉพาะบาดแผลทางจิตใจที่แม้จะมองไม่เห็น แต่กลับมีผลกระทบได้รุนแรงตลอดชีวิต การป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลจึงเป็นหนทางรักษาที่ดีที่สุด

“แล้วพ่อแม่จะสอนลูกอย่างไร ไม่ให้เป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ?”

การป้องกันตัวจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้เด็กสามารถรู้จักรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยวิธีการสอนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย เนื่องจากเด็กๆแต่ละวัยมีความเข้าใจในเรื่องเพศได้ไม่เท่ากัน ในเด็กเล็กพ่อแม่อาจใช้คำพูดอย่างง่ายๆ อธิบายให้ลูกรู้จักร่างกายของตนและการปฏิเสธ ในขณะที่สำหรับเด็กวัยรุ่น อาจมุ่งเน้นที่การปลูกฝังคุณค่าในตนเอง
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะพูดถึงหลักการโดยรวมๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับลูกๆค่ะ

สิทธิ์ในร่างกายตนเอง
“ร่างกายนี้เป็นของหนู คนอื่นจะมาแตะต้องโดยที่หนูไม่ยอมไม่ได้”
สิ่งแรกที่พ่อแม่สามารถปลูกฝังได้ คือการสอนให้ลูกรู้ว่าร่างกายนี้เป็นของเขา สอนให้เด็กรักและหวงแหนร่างกายของตน และให้ลูกรู้ว่ามีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเองจากการสัมผัสของคนอื่นที่เขาไม่ต้องการ

สัมผัสที่ดีและไม่ดี
เมื่อเด็กรู้จักร่างกายของตนเองแล้ว ต่อมาคือการสอนให้เด็กรู้จักการแยกแยะสัมผัสที่ดีและไม่ดี
คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากการอธิบายว่า สัมผัสที่ดีคือสัมผัสที่ทำให้รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย สบายใจ แต่หากสัมผัสใดที่ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ หรือหวาดกลัว คือสัมผัสที่ไม่ดี จากนั้นจึงสอนให้เด็กรู้จักปฏิเสธ เมื่อมีใครมาสัมผัสแบบที่ทำให้รู้สึกไม่ดี
ที่สำคัญคืออวัยวะในที่ลับ ได้แก่ หน้าอก ก้น และอวัยวะเพศ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้เด็กรู้ว่าเป็นบริเวณที่ไม่ควรให้ใครมาแตะต้องเป็นอันขาด

สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ
ทักษะการปฏิเสธและการหลบเลี่ยงเป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันตัวของเด็ก พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้จักการพูด “ไม่” หรือ “หยุด” เมื่อมีคนทำในสิ่งที่เด็กไม่ชอบ
ขณะเดียวกัน พ่อแม่เองก็ต้องยอมรับคำปฏิเสธของลูกเช่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการพูดว่า “ไม่” ของเขานั้นมีน้ำหนักมากพอและไม่ใช่การกระทำที่ผิด เด็กจะได้มีความมั่นใจและกล้าจะปฏิเสธได้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม

ขอความช่วยเหลือ
สอนลูกว่าหากมีเหตุการณ์ไหนที่ไม่ดีเกิดขึ้น เช่น มีคนมาพยายามสัมผัสในอวัยวะที่ลับและแม้ว่าเด็กจะปฏิเสธ เขาก็ยังไม่ยอมหยุด หรือมีคนพยายามเข้ามาทำร้าย ให้เด็กตะโกนขอความช่วยเหลือหรือหนีออกมาโดยเร็วที่สุด จากนั้นให้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้ใหญ่ที่ไว้ใจฟัง

นอกจากการสอนให้เด็กรู้จักป้องกันตัวแล้ว บทบาทที่สำคัญของพ่อแม่ยังรวมถึงการปกป้องลูกๆ จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ที่ยังป้องกันตัวไม่ได้ พ่อแม่จึงเป็นคนเดียวที่จะปกป้องเขาได้ หากมีใครอยากมาอุ้ม มากอด มาหอมเด็ก โดยที่เด็กไม่รู้สึกยินยอม พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้เด็กยอม แต่ควรปฏิเสธและพาเด็กหลบเลี่ยงออกมาทันทีค่ะ

หรือแม้แต่ในเด็กที่โตขึ้นมา เขาก็ยังต้องการการปกป้องจากพ่อแม่เช่นกัน ยิ่งหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด สิ่งที่เขาต้องการที่สุดก็คือความรักและความเชื่อใจจากพ่อแม่ บทบาทของพ่อแม่ในการรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสินและอยู่เคียงข้างเขาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปกป้องและเยียวยาลูกๆค่ะ

บทความโดย รินรดา คงพิบูลย์กิจ
ภาพถ่ายโดย RODNAE Productions จาก Pexels

อ้างอิง :
The Traumatic impact of Child Sexual Abuse : A conceptualization (https://www.celcis.org/…/The_Traumatic_Impact_of_Child_Sexu…)
“ตัวฉันเป็นของฉัน” โดยมูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก (https://www.feelingyesnothailand.com)
บทที่ 25 การทารุณกรรมเด็ก จากตำราจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

NET PaMa