window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ความคิดที่ถูกตีกรอบทำให้จินตนาการของเด็กหายไป
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
เด็กอายุเจ็ดขวบคนหนึ่งเป็นคนที่ชอบวาดรูปมาก แต่วันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กคนนี้กลัวการวาดรูป

มีครั้งหนึ่งที่เด็กวาดรูปทะเล ในทะเลที่เด็กวาดมีหมาตัวหนึ่งว่ายน้ำอยู่ด้วย

ครูเมื่อเห็นรูปทะเลของเด็ก เลยถามเด็กว่า ในทะเลต้องมี กุ้ง หอย ปู ปลา ถึงจะเป็นทะเล ทะเลมีหมาไม่ได้ และครูก็บอกให้เด็กไปวาดรูปมาส่งใหม่

เด็กบอกครูด้วยความคิดของเขาว่า "ทำไมในทะเล ต้องมีแต่กุ้ง หอย ปู ปลา ทำไมในทะเลมีหมาไม่ได้" ครูบอกว่า หมาเป็นสัตว์บก ไม่สามารถอยู่ในทะเลได้

แต่เด็กก็ยังยืนยันกับครูว่า "หมาของผม ว่ายน้ำได้ ผมเคยพาหมาไปทะเล และมันก็ลงไปเล่นน้ำทะเลกับผมได้ หมาตัวนี้เป็นหมาของผม"

ครูไม่ฟังเด็ก แต่บอกกับเด็กว่า เด็กเป็นคนที่ดื้อ เป็นเด็กไม่ดี และก็ตีเด็กเป็นการทำโทษ
หลังจากนั้น เด็กคนนี้ก็ไม่ยอมวาดรูปอีกเลย ทั้งๆที่เขาเคยชอบวาดรูประบายสีมาก

ผู้ใหญ่หลายๆคน มีกรอบที่ตัวเองตีเอาไว้ให้เด็กเดินและทำตาม แต่บางครั้งกรอบที่ตีไว้ก็ทำลายจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์พัฒนาอย่างมากในช่วงที่ยังเป็นเด็ก เพราะเด็กเป็นช่วงชีวิตที่เรามีแนวโน้มที่จะมองโลกในแง่ดี มีงานวิจัยหนึ่งที่พูดถึงอารมณ์พื้นฐานของเด็กส่วนใหญ่ และก็พบว่าเด็กส่วนใหญ่แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นไรก็ตาม อารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานที่มีก็คือ "ความสุข"

บรรยากาศการเรียนรู้ที่มีความสุข เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ในทางกลับกันบรรยากาศที่เด็กมีความวิตกกังวลหรือกลัวมากเกินไป ทำให้เด็กเกิดความเครียดและเรียนรู้ไม่ได้ดี

บางครั้งสิ่งที่เด็กคิดหรือทำอาจจะไม่เหมือนกรอบที่ผู้ใหญ่ตั้งไว้ แต่เรื่องหลายๆเรื่องในโลกใบนี้ ไม่ได้มีคำตอบแค่คำตอบเดียว บางครั้งอัตตาของผู้ใหญ่ทำให้ไม่ยอมรับความคิดใหม่ๆของเด็กๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่จะตามใจและปล่อยให้เด็กทำอะไรก็ทำได้หมด การกระทำหรือคำพูดใดๆก็ไม่ควรจะมีอิสระจนกระทั่งมีผลกระทบทางลบต่อคนอื่นหรือตัวเอง ขอบเขตเป็นเรื่องจำเป็นที่เด็กควรจะต้องเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตนั้นไม่ควรจะไปจำกัดเด็กในทุกเรื่อง จนกลายเป็นคนปราศจากจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเรื่องศิลปะ การเล่น ไม่ควรกำหนดหรือตีกรอบ ควรให้เป็นความคิดอิสระของเด็ก 

เด็กไทยมักถูกสอนให้ท่องจำตามตำรา เวลาสอบทำคะแนนได้ดี แต่ไม่ได้มีความเข้าใจ และขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และนำไปประยุกต์ใช้

บ่อยครั้งที่ความเป็นศิลปินของเด็กส่วนหนึ่ง ถูกทำลายไป เพราะผู้ใหญ่ที่รักและหวังดีกับเด็ก

เขียนโดย พญ. เบญจพร สันตสูติ 
ภาพประกอบโดย พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์
NET PaMa