window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
โควิดกับการเปิดเทอมใหม่ เรื่องกังวลใจของเด็กเพื่อนน้อย
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
วันพรุ่งนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ก็เริ่มเปิดเทอมกันแล้ว  โรงเรียนอาจจะใช้วิธีแบ่งกลุ่มนักเรียนให้สลับกันมาเรียน โดยเรียงเลขที่จากน้อยไปมาก หรือจะให้สลับเลขคู่คี่กันไปแล้วแต่มาตรการโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานการณ์ใหม่สำหรับเด็กทุกคน เด็กๆ ส่วนใหญ่ ตื่นเต้นที่จะได้ไปโรงเรียน เพราะคิดถึงเพื่อน คิดถึงบรรยากาศในห้องเรียนหลังจากที่เรียนออนไลน์มานาน

ซึ่งแน่นอนว่าจะมีเด็กบางส่วนที่ถูกแยกจากเพื่อนสนิทตัวเอง ทำให้รู้สึกกังวลกับการไปโรงเรียนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีเพื่อนสนิทน้อย เข้าสังคมเข้าหาคนอื่นไม่เก่ง จะรู้สึกเหงา ขาดความมั่นใจ รู้สึกเครียดกับการไปโรงเรียนวันแรก แต่ด้วยสถานการณ์บังคับว่าต้องไปโรงเรียน เด็กเหล่านี้ก็ไม่รู้จะไปคุยหรือสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่นยังไง อาจจะเกิดอาการงอแง ไม่อยากไปโรงเรียนได้เหมือนกัน เด็กอาจจะระบาย หรือบ่นให้พ่อแม่ฟัง 

พ่อแม่สามารถช่วยลูกรับมือและจัดการความกังวลที่เกิดขึ้นนี้ได้นะคะ 

1. ให้พ่อแม่รับฟังสิ่งที่ลูกระบายออกมาก่อน อย่าเพิ่งขัดหรือแสดงความรำคาญ เพราะบางปัญหาพ่อแม่อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ว่า สำหรับลูกที่อาจเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ทำให้จินตนาการและกังวลไปก่อน เช่น การหาเพื่อนที่จะนั่งด้วยกันในวันเปิดเรียน การหาเพื่อนไปกินข้าวที่โรงอาหาร การเดินทางกลับบ้านคนเดียว การจับกลุ่มหรือจับคู่ทำงานในอนาคต โดยพ่อแม่สามารถแสดงความเข้าใจลูก ด้วยการตั้งใจฟัง พยักหน้าและพูดตอบลูกบ้างเป็นระยะ เพื่อแสดงให้ลูกรู้ว่าเราใส่ใจความรู้สึกลูก เช่น 
- แม่รู้ว่า...ลูกคงกังวล เพราะไม่รู้จะนั่งกับใคร 
- พ่อรู้ว่า...ลูกกลัวว่าจะไม่มีเพื่อนไปกินข้าวด้วย
- พ่อรู้ว่า...ลูกคิดว่าจะไม่มีเพื่อนทำงานกลุ่มด้วย

2. ลองค่อยๆ ถามลูกว่า ก่อนหน้านี้เพื่อนสนิทเคยไม่มาโรงเรียนติดกันหลายๆ วันบ้างมั้ย ตอนนั้นลูกรู้สึกยังไง มีวิธีคิดหรือปรับตัวยังไงให้รู้สึกดีขึ้น แล้วสุดท้ายลูกผ่านเหตุการณ์นั้นมายังไง เพื่อให้ลูกตั้งสติก่อน ว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ลูกอาจจะเคยผ่านมาแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้มีระยะเวลาที่นานมากขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าลูกเริ่มมีสติถึงจะร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหา อาจจะลองให้ลูกเขียนระดับความกังวลของแต่ละเรื่องออกมาให้ชัดเจน แล้วค่อยหาวิธีจัดการกับปัญหาที่เร่งด่วนและสำคัญก่อน เช่น
- ไม่รู้จะนั่งกับใคร 10/10 คะแนน
-  เพื่อนกินข้าว 8/10 คะแนน
-  งานกลุ่ม 6/10 คะแนน

3. พ่อแม่อาจจะแชร์ประสบการณ์เก่าๆ วิธีการจัดการความกังวลและความรู้สึกของตนเอง เมื่ออยู่ในเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันกับลูก เช่น การอยู่คนละห้องกับเพื่อนสนิท การเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต่างจากเพื่อน การเข้าหาเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ ให้ลูกฟังด้วยก็ได้ เช่น 
- ตอนเด็กๆ เวลาเพื่อนไม่มาโรงเรียน พ่อก็เหงาเหมือนกัน ตอนนั้นพ่อเลย...
- ตอน ป.5 แม่เคยย้ายห้องแล้วไม่รู้จักใครเลย ตอนนั้นกังวลมาก แม่เลย...

เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าไม่ได้เผชิญปัญหานี้คนเดียว ปัญหานี้ไม่ได้แปลกหรือน่าอาย พ่อแม่เองก็เคยเหมือนเป็นเหมือนกัน และเป็นการสอนเทคนิคการจัดการอารมณ์และแก้ปัญหาให้ลูกด้วย ลูกอาจจะมีกำลังใจมากขึ้น แล้วเอาพ่อแม่เป็นแบบอย่างในการรับมือกับปัญหาของตัวเอง

4. ให้กำลังใจลูก โดยบอกว่าพ่อแม่รู้ว่าลูกคงกังวลเรื่องการเข้าหาเพื่อนใหม่มากๆ เลย ครั้งนี้ไม่ได้เจอเพื่อนสนิทคนเดิมนานกว่าทุกครั้ง สุดท้ายเราจะผ่านมันไปได้แน่นอน ถึงแม้เราจะไม่ได้เจอกัน แต่เราก็ยังติดต่อกันได้เสมอ ยังคุยไลน์กันได้ โทรหากันได้ และครั้งนี้ก็เป็น โอกาสดีที่จะได้ฝึกการปรับตัว ฝึกการเข้าสังคมเพื่อทำความรู้จักเพื่อนคนใหม่ๆ ด้วย บางทีลูกอาจจะได้สังคมที่ดี เพื่อนที่ดีอีกหลายๆ คนเลยก็ได้

5. ถ้าหากลูกไม่รู้จะเริ่มต้นพูดคุยกับเพื่อนคนอื่นยังไง พ่อแม่ลองชวนลูกคิดว่าเราควรทักทายเพื่อนอย่างไร ชวนคุยเรื่องอะไรดี ลองเตรียมบทพูดสั้นๆ เพื่อให้บทสนทนาไหลลื่นมากขึ้น อีกทั้งอาจจะลองเล่นบทบาทสมมติกัน ซักซ้อมก่อนไปเจอสถานการณ์จริง เพื่อให้ลูกกล้าที่จะทักคนอื่นมากขึ้นด้วยก็ได้นะคะ

เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ เราจะผ่านไปด้วยกันนะคะ

เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)

Photo by Kelly Sikkema on Unsplash
NET PaMa