window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ถามอย่างไรให้ลูกอยากเล่า :)
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

เคยมั้ย...เวลาเห็นลูกดูท่าทางอารมณ์ไม่ค่อยดี 
พอถามไปก็ไม่ยอมตอบหรือยอมเล่า บอกว่า "เปล่า ไม่มีอะไร" จนบางทีเราที่เป็นห่วงอยู่ พอถามไปแล้วลูกไม่ตอบ เราก็หงุดหงิดรำคาญบ้างเหมือนกัน

หลายครั้งพ่อแม่ถามว่า "ทำไม" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประโยคคำถาม แต่อันที่จริงมักจะมากับคำตัดสิน คำตำหนิ จนกลายเป็น คำบ่นที่ยืดยาว เมื่อพ่อแม่ขึ้นต้นว่า "ทำไม" ประสาทการรับรู้ของลูกจะแปลความหมายทันทีว่า...การบ่นกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว ดังนั้นลูกก็จะไม่อยากเล่าอะไรให้ฟัง เพราะกลัวนั่นเอง


จึงแนะนำให้พ่อแม่ใช้คำว่า "เกิดอะไรขึ้น" "เพราะอะไร" เป็นประโยคที่แสดงถึงความอยากเข้าใจ อยากรู้เหตุผล โดยไม่ตัดสิน เปิดโอกาสให้ลูกอธิบายมากขึ้น แต่ก่อนที่จะถามลูก อยากให้สังเกตอารมณ์ลูกดูก่อนว่ากำลังรู้สึกอย่างไร แทนการถามเพื่อเอาคำตอบทันที 

เช่น

ควรพูดว่า
"วันนี้กลับมาจากโรงเรียนดูลูกหงุดหงิดนะ เกิดอะไรขึ้น เเม่เป็นห่วง พอจะเล่าให้ฟังได้มั้ย"
.
แทนการพูดว่า...
"เป็นอะไร ทำไมถึงทำหน้าบูดหน้าบึ้งอย่างนั้น ทำหน้าให้มันดีๆ หน่อย ไปทะเลาะกับใครมาอีก"

ควรพูดว่า...
"แม่รู้ว่าวันนี้ลูกทะเลาะกับเพื่อนที่โรงเรียน แม่อยากฟังจากลูกว่าเกิดอะไรขึ้น"

แทนการพูดว่า ...
"ทำไมถึงมีเรื่องได้ทุกวี่ทุกวันฮะ ไปก่อเรื่องอะไรมาอีกล่ะ"

ควรพูดว่า...
"วันนี้ดูเหมือนหนูมีเรื่องที่ไม่ค่อยสบายใจนะ พอจะเล่าให้แม่ฟังได้มั้ยว่าเกิดอะไรขึ้น"

แทนการพูดว่า...
"เป็นอะไร ทำไมไม่พูดไม่จา บ้ารึเปล่า ถามอะไรก็ไม่ยอมตอบ" 

นอกจากคำพูดแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ น้ำเสียงและท่าทีของพ่อแม่ ถึงแม้จะใช้คำว่า "เกิดอะไรขึ้น" "เพราะอะไร" ตามข้างต้นแล้ว แต่ถ้าใช้น้ำเสียงตำหนิ เสียงดัง ลูกก็คงไม่อยากเล่าอยู่ดี 

รวมถึงต้องมั่นใจว่าเรามี "เวลา" ฟังลูกจริงๆ ไม่ทำอย่างอื่นไปคุยไป อยากให้นั่งระดับเดียวกัน ใกล้กันพอที่จะเอื้อมมือไปจับแขน ตบบ่า  สบตากันนะคะ

ระหว่างที่ลูกเล่า เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ลูกคิดหรือทำลงไป การสอนหรือตักเตือนเป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ควรทำอยู่แล้ว แต่ขอให้พ่อแม่ตั้งสติ ใจเย็นๆ เก็บเอาไว้ค่อยๆ สอนหลังจากที่อารมณ์ลูกเริ่มสงบแล้ว เพราะถ้าสอนตอนที่ลูกเล่า จะขัดจังหวะการพูดและขัดอารมณ์ ทำให้ไม่อยากเล่าต่อ

เมื่อลูกเปิดใจที่จะเล่า แสดงว่าเขาให้ความไว้วางใจจึงอยากให้พ่อแม่ตั้งใจฟัง และไม่ควรนำไปเปิดเผยให้กับคนอื่นฟัง ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องหรือญาติคนอื่น ยกเว้นแต่ว่าลูกจะอนุญาต หรือเป็นเรื่องสำคัญมากต้องรีบช่วยเหลือ เพราะหากนำไปเล่าต่อจะทำลายความเชื่อใจ ซึ่งทำให้ลูกไม่อยากเล่าอะไรให้ฟังอีก

หากลูกไม่พร้อมที่จะเล่าจริงๆ ก็ควรเคารพการตัดสินใจของลูก ให้พื้นที่ในการจัดการอารมณ์ของตัวเอง ไม่เซ้าซี้ต่อ เพียงแต่บอกด้วยท่าทียินดีรับฟัง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกเข้าหาว่า...
"แม่รู้ว่าตอนนี้ลูกคงยังไม่พร้อมจะเล่า ถ้าเมื่อไหร่ที่ลูกพร้อม แม่ยินดีรับฟังนะ"
จะช่วยให้ลูกรู้สึกดี ว่ามีคนยินดีที่จะรอคอยเพื่อรับฟัง คอยอยู่เคียงข้าง และลูกเรียนรู้ที่จะให้พื้นที่กับคนอื่นเช่นกัน

เขียนและเรียบเรียง ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
ภาพประกอบ ณรัตน์ สร้อยสังวาลย์

NET PaMa