window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
+++ พลังใจ +++  
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
"พลังใจ" หรือ "ความภาคภูมิใจในตัวเอง" หรือ "self-esteem" ของเด็กๆ เป็นความรู้สึก หรือมุมมองที่เด็กๆมีต่อตัวเอง เช่น ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความสำคัญ นับถือตัวเอง เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถพอที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
.
ความภาคภูมิใจในตัวเองเป็น “พลัง” ที่สร้างความรู้สึกดีกับตัวเอง ช่วยให้เกิดความมั่นคงและความสงบทางใจ เมื่อเกิดความรู้สึกดีกับตัวเองแล้ว จะช่วยให้มองเห็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ มุมมองที่มีต่อคนรอบข้าง และการแสดงออกต่อสิ่งต่างๆ ก็มีแนวโน้มไปในทางบวก  ส่งผลให้ผู้คนอยากจะทำความรู้จัก พูดคุยด้วย รวมถึงมีพลังในการจัดการกับสิ่งที่ท้าทาย มองเห็นทางออกของปัญหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง
.
“พลังใจ” ของทุกคนก็เหมือนลูกโป่ง ที่อาจจะพองโต หรือ แฟบลงได้บ้าง เด็กๆ ก็เช่นเดียวกัน อาจมีบางสถานการณ์ที่ทำให้ลูกโป่งในใจแฟบลง เช่น หากสอบได้คะแนนน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ หรือเพื่อนในกลุ่มปฏิเสธความคิดเห็นที่ตัวเองเสนอไป หรือถูกคุณครูตำหนิเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ก็อาจจะรู้สึกเสียใจ ผิดหวัง โกรธ น้อยใจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้
.
....เด็กที่มีพลังใจดี หรือเปรียบเสมือนลูกโป่งที่พองโต จะใช้เวลาไม่นานในการจมอยู่กับอารมณ์ทางลบ เพราะเขาจะสามารถยอมรับตัวเอง ยอมรับความแตกต่างทางความคิดและการกระทำระหว่างบุคคล “อนุญาตให้ตัวเองผิดพลาด” เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเองในครั้งต่อๆไปได้
.
.....ในทางกลับกันเด็กที่มีพลังใจน้อย หรือเปรียบเสมือนลูกโป่งที่แฟบ จะจมอยู่กับอารมณ์ทางลบนานกว่า ซึ่งหลายครั้งจะโทษตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ เมื่อเกิดความรู้สึกลบกับตัวเองบ่อยๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้ด้วย
.
เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปกครองสังเกตเห็นว่า พลังใจของเด็กๆเหมือนลูกโป่งที่แฟบลง อาจจะเข้าไปรับฟัง ให้ความช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษา คอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ ชื่นชมในสิ่งที่ทำดีแล้ว เพื่อให้เขามีพลังใจในการเผชิญความยากลำบาก  
.
ในบางครั้งแค่มีใครสักคนมารับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขาอย่างตั้งใจ โดยไม่ตัดสิน เข้าใจสถานการณ์และข้อจำกัด ณ เวลานั้นๆ ก็ช่วยให้ได้รับพลังใจกลับคืนมาแล้ว
.
แต่หากปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไข ก็อาจจะเป็นเพื่อนคู่คิดกับเด็ก ชวนมองหาวิธีการรับมือ หรือแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ลองพิจารณาข้อดี ข้อเสีย แต่ละวิธี และเลือกวิธีที่เหมาะสมดู ก็จะเป็นการช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา (problem solving) ด้วยค่ะ

เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)

Photo by Amy Shamblen on Unsplash
NET PaMa